มาตรการเดินทางปีใหม่! สธ.เผยคนนั่งรถโดยสารเกิน 4 ช.ม. ต้องตรวจ ATK ก่อน รวมถึงตรวจใบรับรองการฉีดวัคซีน เร่งประสานคมนาคมและ บขส.
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์โควิด 19 ของไทยดี แต่เข้าใกล้ปีใหม่คนทำกิจกรรมเยอะ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่ตัวเลขจะเพิ่มได้ ซึ่งการประเมินสถานการณ์หลักๆ เราไม่ได้ดูแค่ตัวเลขติดเชื้อ โดยจะดู 1.ศักยภาพ รพ.รองรับผู้ป่วยอาการหนักไหวหรือไม่ ภาพที่เคยเห็นเตียงไอซียูเต็ม เตียงเต็มแบบนั้นรับไม่ได้ 2.ระบบสาธารณสุขรองรับผู้ติดเชื้อได้ เช่น อาการไม่หนัก คนป่วยไม่ล้น และ 3.อัตราเสียชีวิตไม่สูงพุ่งมาก ทั้งนี้ เราเคยทำโพลสำรวจประชาชนว่ารับได้กับสถานการณ์อย่างไร เรามีตัวเลขอยู่ แต่เรากำลังจะทำใหม่อีกครั้ง
เมื่อถามว่าหากหลังปีใหม่ตัวเลขติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นสูง คาดการณ์การระบาดอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้กำลังคำนวณการระบาดรอบใหม่ว่า หลังปีใหม่การระบาดจะเป็นอย่างไร เป็นแบบจำลองอันใหม่ เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพ และใส่ในการอ้างอิงสถานการณ์ แต่ต้องใช้เวลาในการใส่ตัวแปร คาดว่าสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จ
เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า หากโดยสารด้วยรถสาธารณะ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังประสานกับกระทรวงคมนาคมและ บขส. ว่าหากรถขนส่งสาธารณะที่ต้องนั่งนานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป ควรมีการตรวจ ATK ผู้โดยสารก่อนขึ้นรถทุกคน ส่วนพนักงานจะต้องตรวจอยู่แล้วตามมาตรการ รวมถึงตรวจใบรับรองการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งเป็นพื้นอยู่แล้วว่า ฉีด 2 เข็มก็มีความปลอดภัย
เมื่อถามถึงมาตรการที่อาจจำกัดเฉพาะผู้ได้รับวัคซีนเข้าร่วมเท่านั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า หากทางภาครัฐ หรือศบค. ออกมาบังคับก็อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ แต่หากเอกชนดำเนินการเอง เช่น เจ้าของร้านอยากสร้างความปลอดภัยให้ร้าน ผู้ใช้บริการอื่นๆ แล้วจะกำหนดในเรื่องต่างๆ ก็เป็นสิทธิของทางร้าน ซึ่งบังคับได้ง่ายกว่า เข้าใจว่าเรื่องการฉีดวัคซีนเข้าสถานที่ต่างๆ ในต่างประเทศทำเยอะ มีความยอมรับของประชาชน แต่หากเราออกกฎหมายบังคับจะมีผลในภาคปฎิบัติ ดังนั้น ถ้าเอกชนทำเอง แล้วรัฐสนับสนุน เช่น การตรวจ ATK ให้สะดวกและง่ายขึ้น
เมื่อถามว่า หากมีการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในไทย จะมีผลกระทบต่อมาตรการช่วงปีใหม่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปทั่วโลก ดังนั้น โอกาสเจอในไทยมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะมีคนเดินทางเข้าไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราตรวจจับได้ ซึ่งตอนนี้เรายังเจอการนำเข้าจากต่างประเทศ เราก็ควบคุมไม่ให้เกิดระบาดวงกว้าง ดังนั้น ความร่วมมือประชาชนสำคัญมาก
“หากพบโอมิครอนก็เหมือนสายพันธุ์อื่น ถ้าไม่รุนแรงมาก ก็ยอมรับได้ เรากังวลเรื่องคนไข้ล้น รพ. ไอซียู รักษาไม่ไหว แต่ถ้าระดับที่รักษาคนไข้ได้ คนไข้ไม่ล้น รพ. ส่วนกิจการต่างๆ สังเกตได้ว่า หลายประเทศก็ไม่ได้ปิดประเทศแล้ว ส่วนประเทศที่เคยปิดก็กลับมาเปิด หลายประเทศเชื่อว่ามาตรการปิดประเทศไม่ส่งผลดี ปิดๆ เปิดๆ ดังนั้น ปิด 100% คงไม่ได้ แต่เปิดหมดก็ไม่ได้” นพ.โอภาส กล่าวและว่า มาตรการสำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกัน รวมถึงเข็ม 3 มาตรการ COVID Free Setting ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำ