อาจารย์สถาปัตย์ จุฬาฯ โพสต์ถึง “คลองช่องนนทรี” เผยเป็นจริงอย่างที่คนรีวิว พร้อมตั้งคำถาม นี่หรืองานงบ 980 ล้าน
เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ “โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ งบประมาณกว่า 980 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 อย่างไรก็ตาม โครงการกลับถูกตั้งคำถามในหลายแง่มุมบนสื่อสังคมออนไลน์
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 “ผศ. ดร.รชพร ชูช่วย” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเล่าประสบการณ์การไปชมสวนคลองช่องนนทรี โดยเผยว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่ประชาชนวิจารณ์
ไม่ว่าจะเป็น น้ำเหม็นจนกลิ่นทะลุหน้ากาก วัสดุดูเชยล้าสมัย รายละเอียดการก่อสร้างหยาบและบางจุดถึงขั้นอันตราย การตกแต่งเหมือนงานอีเวนต์ แถมจุดที่ตั้งคือเกาะกลางถนนที่มีรถติด มีควันรถเยอะ แนวต้นไม้เดิมยังช่วยกันฝุ่นได้มากกว่า บริเวณพื้นบางส่วนของโครงการใช้หญ้าเทียมซึ่งทำจากพลาสติก มีต้นไม้เล็ก ๆ ที่อยู่ได้เพียงไม่กี่วัน ทั้งหมดจึงไม่น่าจะช่วยเรื่องรักษ์โลกได้
ส่วนเรื่องของงบประมาณ 980 ล้านบาท เมื่อประเมินจากสายตาดูแล้ว ไม่น่าใช้งบถึงจำนวนดังกล่าว ตนมองว่างบประมาณมากมายขนาดนี้ สามารถสร้างตึกขนาด 2-30,000 ตารางเมตร พร้อมตกแต่งภายในได้ด้วยซ้ำ จึงอยากเห็นรายการแสดงปริมาณงานและราคาวัสดุก่อสร้าง (BOQ) ของโครงการเป็นอย่างมาก
ประเด็นเรื่องงานก่อสร้าง การออกแบบราวกับเป็นการออกแบบคนละโครงการ จึงเกิดข้อสงสัยว่าได้มีการประสานกันในเรื่องงานวิศวกรรมโครงสร้างกับงานสถาปัตย์หรือไม่ อย่างเช่นทางเดินลอยฟ้าที่ขดไปมา ดูไม่เข้ากับโครงสร้างสักนิด แถมยังมีโครงสร้างประหลาดยื่นออกมาน่ากลัวหลายจุด
นอกจากนี้ โพสต์ยังระบุว่า ระหว่างที่ได้ไปเดินชมโครงการนั้น ได้พบกับกลุ่มผู้ชายอายุ 20 กว่า จำนวนสามคน พากันเดินตรวจรายละเอียดราวกับเจ้าหน้าที่ตรวจรับงาน ซึ่งทั้งสามคนพูดคุยกันว่า “นี่ราวกันตกทำด้วยเหล็กข้ออ้อยทาสีเนี่ยนะ เดี๋ยวก็ขึ้นสนิมไหม แล้วทำเป็นเส้น ๆ แนวนอนนี่เด็กไม่ปีนได้เหรอ ตกลงไปในน้ำก็ตายนะ แถมยังเตี้ยไปไหม แล้วเสาคือเหล็กกลวง น้ำจะไม่เข้าเหรอ นี่เงินเกือบพันล้านนะ” ซึ่งตนประทับใจในความเห็นดังกล่าวมาก
การที่บางส่วนออกมาแก้ต่างให้ว่า มีโครงการนี้ดีกว่าไม่มี หรือ โครงการยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ต่าง ๆ นานา แน่นอนว่างานออกแบบมีผิดพลาดได้ ยิ่งถ้ามองมันเป็นเฟสแรก เป็นการสร้างต้นแบบ (Prototyping) ตามแนวคิดการออกแบบก็ยิ่งเป็นไปได้
เพียงแต่สงสัยว่าประเด็นในการสร้างต้นแบบ (Prototype) ครั้งนี้คืออะไร ยังเห็นไม่ชัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ใช้มันทำความเข้าใจและเรียนรู้อะไรหรือไม่ เพราะบางทีเมื่อทำต้นแบบแล้วใช้การไม่ได้ ก็อาจไม่ทำต่อ เพราะได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่ดี ตนกลัวแต่ว่ากรณีนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังจะทำต่อไป เพราะมีงบประมาณจำนวนมหาศาลรออยู่ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา khaosod