นพ.ยง เผย’โอมิครอน’มาแทน’เดลตา’แล้ว ชี้ยอดตรวจเจอไม่ใช่ตัวเลขจริง เหตุมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ
วันที่ 8 ม.ค.65 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงสถานการณ์โอมิครอนว่า
โควิด 19 โอมิครอน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ ต้องยอมรับกันว่าขณะนี้โอมิครอน ได้ระบาดอยู่ในประเทศไทย และทั่วโลก จํานวนผู้ติดเชื้อที่รายงาน โอมิครอนจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ในทุกประเทศ เพราะการตรวจจะเป็นการตรวจเพียงว่าเป็นเชื้อ covid19 เท่านั้น ไม่ได้แยกสายพันธุ์ การตรวจแยกสายพันธุ์ จะต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์อะไร
ในต่างประเทศบางประเทศ ที่มีการตรวจเชื้อ covid19 ด้วยวิธี RT-PCR ตรวจยีนอื่นพบแต่ตรวจยีน S ไม่พบ ก็ถือว่า น่าจะเป็นโอมิครอน เพราะ การกลายพันธุ์ในยีน S ทำให้ตรวจไม่พบ
ในประเทศไทยการตรวจหาไวรัส covid 19 เกือบทั้งหมดไม่ได้มีการตรวจยืน S ร่วมด้วย จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ การตรวจหาสายพันธุ์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจำเพาะ ในการตรวจ หรือถอดรหัสพันธุกรรม ตัวเลขแต่ละประเทศที่รายงานมา เป็นการตั้งใจตรวจหาสายพันธุ์ หลายคนเมื่อดูอันดับการตรวจพบแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ความสามารถในการตรวจของเรามีความสามารถในการตรวจอยู่ในประเทศต้นๆ เช่นเดียวกัน
ดังนั้นขณะนี้ การที่บอกว่าตรวจพบ 3,000 ราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ เช่นเดียวกันในเกือบทุกประเทศจะเป็นแบบนั้น การจะบอกได้ว่าขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์ โอมิครอน มากน้อยแค่ไหนจะต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 มาตรวจ แล้วดูอัตราเปอร์เซ็นต์ในการพบ โอมิครอน กับสายพันธุ์เดลตา มากกว่า
ขณะนี้ทางศูนย์กำลังทำอยู่ แต่ความสามารถของทางศูนย์ คงทำได้เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น อัตราการตรวจพบ โอมิครอน ที่ทำอยู่คงจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งขณะนี้เชื่อว่า โอมิครอน ได้เข้ามาแทนที่เดลตาเป็นจำนวนมากแล้วน่าจะเกินร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ที่มา .khaosod