- การประท้วงรุนแรงที่คาซัคสถาน จากประเด็นต่อต้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ที่แพงขึ้น บานปลายไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตหลายสิบศพ บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 18 ศพ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 4,400 ราย
- ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศได้ส่งผลต่อเสถียรภาพอำนาจในกลุ่มผู้นำทางการเมือง หลังมีคำสั่งถอดอดีตผู้นำออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่ต่างจากการทำรัฐประหารเงียบ
- สถานการณ์ประท้วงที่ขยายวงรุนแรงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นการสะท้อนความอัดอั้นตั้งใจตลอด 3 ทศวรรษที่ชาวคาซัคสถานมีต่อระบบการเมืองเก่าที่ฝั่งรากลึก
จุดเริ่มต้นชาวคาซัคสถานออกมาชุมนุมประท้วง
นับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราช คาซัคสถานเป็นหนึ่งในโมเดลความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านของประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต การเมืองของคาซัคสถานเรียกได้ว่ามีเสถียรภาพตลอด 30 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ที่ชูนโยบาย “เศรษฐกิจมาก่อน” เรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลของผู้นำคนปัจจุบันคือประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โตคาเยฟ
ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทองแดง แร่ต่างๆ และยูเรเนียม ตลอดจนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก็ทำให้คาซัคสถานมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียกลาง
ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีข่าวการประท้วง หรือความไม่สงบเกิดขึ้นเลย แต่ในช่วงที่ชาวโลกกำลังเฉลิมฉลองปีใหม่ และอยู่กับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาว ชาวคาซัคสถานก็ได้เริ่มออกมาชุมนุมกันในเมืองอัลมาตี เมื่อวันที่ 2 ม.ค. เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่ตัดสินใจยุติการตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ไว้ที่ 50 เท็งเกต่อลิตร หรือประมาณ 3.8 บาท ทำให้ราคาพุ่งไปถึง 120 เท็งเกต่อลิตรตามกลไกของตลาด
นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในคาซัคสถานนับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราชเมื่อปี 2534 จุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองซานาโอเซน ทางตะวันตกของประเทศ ก่อนลุกลามไปยังเมืองอื่นๆ กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลก็ถูกโหมกระพือขึ้นมา
ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ก่อเหตุบุกเข้าไปยังที่พักประธานาธิบดี จุดไฟเผาสำนักงานเทศบาลในเมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ยังบุกเข้าไปในสนามบิน และออกมาเผารถยนต์อีกหลายคัน
ขณะที่รัฐบาลพยายามทำให้การประท้วงสงบลง ด้วยการประกาศกลับมาตรึงราคาก๊าซแอลพีจีอีกครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นรัฐบาลก็ได้ประกาศลาออกทั้งคณะ แต่ก็ไม่เป็นผล สถานการณ์ประท้วงยังคงรุนแรงบานปลาย กระทรวงมหาดไทยคาซัคสถาน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตหลายสิบศพ บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 18 ศพ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 4,400 ราย
ดานิยาร์ คาสเซนอฟ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคาซัคสถาน ระบุว่า รัฐบาลโตคาเยฟอาจจะหารือกันเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในประเทศ อาจตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และสนับสนุนเงินช่วยเหลือประชาชนหวังว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างรู้และเข้าใจได้ว่าการปฏิรูปไม่มีอยู่จริง
ขณะที่เสียงตะโกน “Shal ket!” หรือ “คนแก่ต้องออกไป” จากปากผู้ประท้วงดังกึกก้องไปทั่วเมือง เมื่อสิ่งที่ชาวคาซัคสถานเอือมระอาจริงๆ คือ “ระบอบนาซาร์บาเยฟ” ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ นับตั้งแต่เขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2562 และไปดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ในช่วงยุคปี 1990 ตระกูลนาซาร์บาเยฟค่อยๆ เข้ายึดครองอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ของประเทศ จากนั้นก็ขยายอำนาจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งก่อสร้าง ธนาคาร เทเลคอม และค้าปลีก
บรรดาลูกหลานของเขา โดยเฉพาะนายติมูร์ คูลิบาเยฟ ลูกเขาก็มีอำนาจยึดครองทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ภาคการเงินไปจนถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นอำนาจเก่ายังคงปกครองคาซัคสถานอยู่ในฉากหลัง