ตร.เตือน เมาแล้วขับ ชนเจ็บ-ตาย โทษสูงสุดคุก 10 ปี เพิกถอนใบขับขี่
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่มีพลเมืองดีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพบผู้หญิงรายหนึ่งขับรถไม่ไปตามทิศทางที่กำหนด (ย้อนศร) และมีอาการคล้ายคนเมาสุรา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบรถยนต์คันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญตัวไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่เจ้าของรถไม่ยินยอม จึงได้นำตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ นั้น อ่านข่าว : สาวเมากร่าง โร่หอบกระเช้า เข้าขอโทษ รับผิดทุกอย่าง ขอโอกาสแก้ตัว
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวเจ้าของรถไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แล้วพบว่ามีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงได้จับกุมตัว และแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ห้ามขับขี่ขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากจะทำให้ไม่มีสติในการขับรถ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จนทำให้เกิดความสูญเสีย ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 142 เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ (1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 (2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจรพนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้ดําเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งในหลายๆคดี ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุกและเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ในการขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท มีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทาง เมาไม่ขับ ไม่กระทำผิดกฎหมาย และไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของตัวท่านเองรวมถึงผู้อื่น
ที่มา khaosod.