ศรีสุวรรณ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบบริษัทใด ได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยันตรวจพบมาตั้งแต่ปี 62

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเป็นที่สงสัยว่า บริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั้งที่มีรายงานว่าไทยพบหมูติดเชื้อ ASF ตัวแรกในจ.เชียงราย ตั้งแต่ปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์ ไม่ยอมประกาศว่าพบการระบาด เป็นข้อพิรุธว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเลี้ยงหมูหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาด ASF ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ล้มหายไปเป็นจำนวนมาก แต่กรมปศุสัตว์กลับอ้างเป็นโรคเพิร์ส (PRRS) ซึ่งอยู่ในไทยมานานแล้ว จึงไม่มีมาตรการออกมารองรับตามที่ พ.ร.บ.โรคระบาด 2558 กำหนดไว้ เป็นเหตุให้หมูแพงกว่าเท่าตัว และทำให้สินค้าอื่นๆ ใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การปิดบังข้อมูลโรคระบาด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทสามารถส่งออกหมูได้เพิ่มขึ้น เช่น การส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น จาก 3,571 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 15,863 ล้านบาทในปี 2563 และค่อยลดลงหลังกัมพูชาและเวียดนามตรวจพบว่า หมูจากไทยติดเชื้อ ASF แต่ผลประโยชน์หลักหมื่นล้านบาทนั้น ต้องแลกกับการที่คนไทยต้องซื้อหมูแพงขึ้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู จะทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสูญหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต การแปรรูป และการกระจายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ครบวงจรมากขึ้น สามารถกำหนดราคาเนื้อหมูได้ตามต้องการ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นอีกด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เชื่อว่าการปกปิดข้อมูลดังกล่าว ทำให้บริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทได้ประโยชน์จากการที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์

สมาคมฯ จำเป็นต้องนำความมาร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอหน่วยงานรัฐตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(2) ประกอบ มาตรา 51 และมาตรา 59

ที่มา khaosod.