- อินเดียพบผู้ติดเชื้อราสีดำ ที่เรียกว่า ‘มิวคอร์ไมโคซิส’ ในหมู่ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนนับพันราย เป็นโรคร้าย เกิดขึ้นได้ยาก แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50%
- เชื้อราตัวนี้มีอยู่ในธรรมชาติ แต่การที่มันเริ่มปรากฏมากขึ้นในอินเดียนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะไม่ได้เป็นเพราะตัวไวรัสโดยตรงก็ตาม
- ตอนนี้หลายรัฐในอินเดียกำลังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลกลาง ประกาศให้การแพร่กระจายของเชื้อราสีดำตัวนี้เป็นการระบาด เพื่อจะได้สามารถรับมือกับมันได้ดียิ่งขึ้น
นเดียซึ่งกำลังเผชิญการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 กลับต้องรับมือกับโรคหายากอีกชนิด ที่เกิดจากการติดเชื้อราชื่อโรค ‘มิวคอร์ไมโคซิส’ (Mucormycosis) ซึ่งตอนกำลังเล่นงานผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นจากไวรัสโคโรนาจำนวนหลายพันคน
ตามปกติแล้ว โรคติดเชื้อรา มิวคอร์ไมโคซิส หรือที่เรียกกันตามภาษาปากว่า ‘เชื้อราสีดำ’ (black fungus) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่หากติดแล้วมันจะกลายเป็นโรคมรณะที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% และบางครั้งผู้ป่วยจะรอดชีวิตได้ก็ต่อเมื่อ ผ่าตัดนำดวงตา หรือกระดูกกรามออก
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอินเดีย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อราสีดำตัวนี้พุ่งสูงขึ้น แต่การติดเชื้อและการเกิดโรคไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวไวรัสโดยตรง ขณะที่หลายรัฐในอินเดีย กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลกลางประกาศให้การแพร่กระจายของ มิวคอร์ไมโคซิส เป็นการระบาดแล้ว
เชื้อราสีดำ คืออะไร?
มิวคอร์ไมโคซิส มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ ไซโกไมโคซิส (Zygomycosis) เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อราในตระกูล ‘มิวโคราลีส’ (Mucorales) ซึ่งพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ เช่นในดินที่มีอินทรีย์วัตถุอย่างผักและผลไม้เน่าเปื่อย โดยเชื้อราในตระกูลนี้ที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์มากที่สุดคือ ‘ริโซปัส ออรีซี’ (Rhizopus oryzae) แต่ในอินเดียยังมีเชื้ออีกตัวที่พบได้ทั่วไปคือ ‘อโปฟิสโซไมซิส’ (Apophysomyces)
ในห้องทดลอง เชื้อเหล่านี้มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว และมีสีน้ำตาลดำ ทำให้มันได้ชื่อเล่นว่า เชื้อราสีดำ มันยังสามารถเติบโตได้ดีในที่อุณหภูมิร่างกายคน และในสภาพแวดล้อมเป็นกรด เช่น ในเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว, กำลังจะตาย หรือได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานอย่างไม่มีการควบคุม
ติดเชื้อได้อย่างไร?
เชื้อราตระกูล มิวโคราลีส ถูกจัดเป็นเชื้อฉวยโอกาส มักเล่นงานผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเนื้อเยื่อที่เสียหาย การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันย่าง คอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ เช่นเดียวกับการป่วยเป็นโรคที่ทำลายภูมิคุ้มกันอย่าง มะเร็ง หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ขณะที่บาดแผลหรือการผ่าตัดสามารถทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้
มนุษย์จะติดเชื้อราจำพวกนี้ได้ 3 วิธีคือ หายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป, กลืนสปอร์ลงไปพร้อมกับอาหารหรือยา และมีสปอร์มาปนเปื้อนในบาดแผล โดยการติดเชื้อจากการหายใจเป็นกรณีที่พบบ่อยที่สุด แต่ตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันกับปอดของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง จะป้องกันการติดเชื้อได้
แต่หากปอดเสียหายหรือภูมิคุ้มกันโดนกด อย่างเช่นกรณีของผู้ที่กำลังได้รับการรักษาโรคโควิด-19 สปอร์จะสามารถเจริญเติบโตได้บริเวณทางเดินหายใจ หรือโพรงจมูก และบุกรุกเข้าสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย มิวคอร์ไมโคซิสยังสามารถพบได้ในปอด แต่การติดเชื้อส่วนใหญ่มักพบที่จมูกหรือไซนัส และอาจลามขึ้น ตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอด หรือไปถึงสมอง ทำให้ปวดหัวหรือชักเกร็ง
ทำไมพบมากในผู้ป่วยโควิด-19 อินเดีย?
สาเหตุที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ติดเชื้อราสีดำในอินเดียเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศอื่นๆ กลับพบเพียงไม่กี่ราย เป็นเพราะว่า มิวคอร์ไมโคซิสเป็นโรคที่พบในอินเดียมากกว่าประเทศอื่นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว โดยพบในประชากร 14 คนต่อ 100,000 คน ขณะที่ออสเตรเลียพบเพียง 0.06 ต่อ 100,000 คนเท่านั้น
การแพร่กระจายของ มิวคอร์ไมโคซิส ในอินเดียยังเกิดจากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดคือ โรคเบาหวาน เพราะเมื่อการควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี น้ำตาลในเลือดจะสูงและทำให้เนื้อเยื่อมีสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นแหล่งเติบโตชั้นดีของเชื้อรามิวโคราลีส ขณะที่รายงานล่าสุดของวารสารฟังไจ (Journal of Fungi) ระบุว่า 94% ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อรา เป็นโรคเบาหวาน และ 67% ในจำนวนนี้มีการควบคุมที่ไม่ดี
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ผู้เป็นเบาหวานหรือโรคอ้วน มักมีอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงกว่าคนทั่วไป และโอกาสสูงที่ต้องใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษา แต่การใช้ยาตัวนี้ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรค มิวคอร์ไมโคซิส ไม่เพียงเท่านั้น ไวรัสโควิด-19 ยังสร้างความเสียหายแก่ทางเดินหายใจและหลอดเลือด ยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนไหวต่อการติดเชื้อรามากขึ้นไปอีก
การรักษาทำได้ลำบาก
การรักษาโรคติดเชื้อ มิวคอร์ไมโคซิส สิ่งสำคัญคือต้องวินิจฉัยโรคและเริ่มการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่น่าเศร้าที่ในอินเดีย ผู้ติดเชื้อจำนวนมากถูกพบช้า และเข้าถึงการรักษาได้อย่างจำกัดมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว และสภาพระบบสาธารณสุขของอินเดียตอนนี้ที่งานล้นมือ ทำให้การรักษาผู้ติดเชื้อรายากขึ้นไปอีก
ดร. ทานู สิงหาล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในมุมไบ กล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างของการรักษาผู้ติดเชื้อ มิวคอร์ไมโคซิส คือมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะการรักษาเบื้องต้นคือการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อหรือตายแล้วออกไป หลังจากนั้นก็ต้องได้รับยาต้านเชื้อราเป็นเวลานาน ทำให้ค่ารักษาโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านบาท ถึง 21.4 ล้านบาท
ขณะที่ผลลัพธ์ของผู้ติดเชื้อ มิวคอร์ไมโคซิส กว่าครึ่งเสียชีวิต และอีกจำนวนมากที่มีอาการป่วยสร้างความเสียหายต่อสุขภาพอย่างถาวร
หลายรัฐเรียกร้อง ประกาศเป็นการระบาด
ตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นของ 29 รัฐในประเทศอินเดีย ต่างยื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้รัฐบาลประกาศให้การแพร่กระจายของโรค มิวคอร์ไมโคซิส เป็นการระบาดได้แล้ว เพื่อที่ทางกระทรวงจะได้สามารถสังเกตสถานการณ์ในแต่ละรัฐ และปรับการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอินเดียมีผู้ติดเชื้อราในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดกี่ราย แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีสาธารณสุขรัฐมหาราษฏระ ซึ่งไวรัสโคโรนาระบาดหนักที่สุด เผยว่า พบผู้ติดเชื้อราสีดำแล้วถึง 1,500 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นยังทำให้ยา ‘แอมโฟเทอริซิน บี’ ซึ่งใช้ในการรักษาโรค มิวคอร์ไมโคซิส ขาดแคลนด้วย แม้ว่าในอินเดียจะมีผู้ผลิตยาตัวนี้หลายบริษัทก็ตาม
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: BBC, Aljazeera,thairath