สุดทน! สาวราชบุรีร้องเรียนผู้สื่อข่าว แทงค์น้ำโครงการประชารัฐโผล่ในที่ดินตัวเอง ค้านมา 5 ปี ไม่เป็นผล หากรื้อถอนเองจะผิดตามกฎหมาย แถมโดนด่า ‘ไร้น้ำใจ

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวเดินทางเข้าพบกับ น.ส.วรภรพรหมสรรค์ การีกลิ่น อายุ 35 ปี ชาวบ้าน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากแทงค์น้ำประปาหมู่บ้านหมู่ที่ 2 ที่เข้ามาติดตั้งอยู่บนที่ดิน ทั้งที่ไม่ได้รับความยินยอม แม้เดินหน้าร้องเรียนมานานกว่า 5 ปี แต่ไม่เป็นผล ซ้ำโดนกล่าวหาว่าไร้น้ำใจ

น.ส.วรภรพรหมสรรค์ พาผู้สื่อข่าวไปดูร่องรอยแตกร้าว และยุบตัวของพื้นห้องน้ำ ที่อยู่ห่างจากตัวแทงค์น้ำเพียง 3 เมตร ที่คาดว่าน่าจะเกิดจากการทรุดตัวของชั้นดิน ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่าแทงค์น้ำดังกล่าว มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณขอบด้านบนของแทงค์น้ำมีตัวอักษรสีเหลืองเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็น “โครงการประชารัฐ” ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน เพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ

นอกจากนั้น ยังนำหลักฐานมาแสดง เป็นโฉนดที่ดินผืนดังกล่าว เอกสารแจ้งความ สภ.เขาดิน เรื่องให้รื้อถอนแทงค์น้ำประปา เนื่องจากไม่ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้าง เอกสารการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอโพธาราม และแบบแปลนบ้านที่ขออนุญาตก่อสร้าง แต่เทศบาลตำบลเขาขวางไม่สามารถอนุมัติให้ได้ เนื่องจากสถานที่ตั้งทับซ้อนกับแทงค์น้ำประปา

น.ส.วรภรพรหมสรรค์ เปิดเผยว่า พื้นเพเดิมคุณแม่ของตนเป็นชาวโพธาราม แต่ด้วยภาระหน้าที่จึงย้ายไปอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาคุณแม่ได้รับมรดกจากครอบครัวเป็นที่ดินจำนวน 1 งาน 95 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.เตาปูน อ.โพธาราม โดยตนและน้องสาวตั้งใจว่าจะรวบรวมเงินนำมาปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าวให้กับคุณแม่ เพื่อลงหลักปักฐาน และให้แม่อยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง

กระทั่งปี 2559 ประธานชุมชนพร้อมกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง เข้ามายังที่ดินของตน แล้วแจ้งว่าเข้ามาสำรวจแหล่งน้ำ สำหรับใช้ทำประปาหมู่บ้าน ซึ่งตนและครอบครัวก็แสดงเจตจำนงด้วยวาจาว่าไม่อนุญาตให้ก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ทั้งสิ้น ก่อนจะเดินทางกลับไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จึงเดินทางกลับมาที่ อ.โพธาราม อีกครั้ง และพบว่าการก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาล และติดตั้งแทงค์น้ำขนาดใหญ่บนที่ดินของตัวเอง จึงไปแจ้งความคัดค้านและให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.เขาดิน พร้อมทั้งติดตามสอบถาม

รวมไปถึงการร้องเรียนยังหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ตนก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่า แทงค์น้ำดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด หนำซ้ำยังโดนคำพูดต่อว่า ครอบครัวตนเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจ ชาวบ้าน 150 หลังคาเรือนจะต้องเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำใช้

ในขณะที่ครอบครัวตนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการดังกล่าวเลย อีกทั้งยังไม่สามารถดำเนินการอะไรบนที่ดินของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้านให้คุณแม่อยู่ หรือนำไปเป็นทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงขายต่อก็ไม่ได้ ต้องกลายเป็นที่ดินไม่มีค่า แม้อยากจะรื้อถอนเอง ก็ต้องจ้างผู้รับเหมาเอกชน ใช้งบประมาณกว่า 5 หมื่นบาท แต่ที่สุดก็ทำไม่ได้ เพราะแทงค์น้ำเจ้าปัญหานี้เป็นของรัฐ หากรื้อถอนโดยพละการจะมีความผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ตนจึงอยากร้องเรียนผ่านสื่อไปถึงผู้มีอำนาจ และเกี่ยวข้องช่วยสั่งรื้อถอนแทงค์น้ำดังกล่าวออกจากที่ดิน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ตนและครอบครัวโดยเร็ว รวมไปถึงต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยามาตรวจสอบสภาพชั้นดิน หลังน้ำใต้ดินถูกดูดขึ้นมาใช้นาน 5 ปี เกรงผลกระทบกับบ้านที่สร้างใหม่ในอนาคต

ที่มา khaosod.