เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. วันนี้พบ 1,630 ราย, ปริมณฑลอย่าง นนทบุรี ปทุมธานี รวมถึงกลุ่ม 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังทรงตัว เช่น ชลบุรีแนวโน้มลดลง ภูเก็ตก็ยังทรงตัว เป็นต้น ดังนั้น สธ.จึงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 และการปฏิบัติตัวของประชาชนยังอยู่ในระดับ 4 โดยขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง

งดการร่วมกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทางที่ไม่จำเป็น

“เราชะลอการระบาดได้ตั้งแต่ต้นปี แต่ตอนนี้บางจังหวัดดีขึ้น บางจังหวัดก็เพิ่มมากขึ้น จึงยังเตือนภัยที่ระดับ 4 ทั้งหมด แต่อยากเตือนโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขอให้เคร่งครัดมาตรการมากขึ้น เพราะมีสัญญาณการแพร่ระบาดมากขึ้น” ปลัดสธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า การติดเชื้อโควิดช่วงต้น ม.ค.2565 เป็นต้นมา พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนประมาณ 87% โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนเกือบ 100% นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนและติดเชื้ออีกครั้งพบว่าเป็นโอมิครอน 100% ส่วนผู้ที่รับวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรง

ดังนั้น การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อไม่ค่อยได้ แต่ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตชัดเจน จึงต้องมีภูมิให้มากเพียงพอ จึงต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3

ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วกว่า 112 ล้านโดส เข็มแรกครอบคลุม 72.1% เข็มสอง 67% และเข็มสาม 15.8% โดยการฉีดวัคซีนแต่ละวันเป็นเข็ม 3 เยอะที่สุดประมาณ 70%

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด 13 ราย อยู่ในกลุ่ม 607 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งกรมควบคุมโรคทำลักษณะการระบาดวิทยา พบว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดตั้งแต่ ม.ค.2565 จำนวน 289 ราย

พบว่าเป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี 159 คน ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 58 คน ช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 33 คน

ส่วนกลุ่มอายุน้อยเสียชีวิตน้อย การเสียชีวิตจึงแปรผันตามช่วงอายุ เพราะคนอายุเยอะมีโรคประจำตัวเยอะ ยิ่งอายุมากจึงยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตกว่าคนอายุน้อย โดยกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปีลงไป การเสียชีวิตจำนวนแทบไม่แตกต่างกันมาก แต่ถ้าอายุ 70 ปีขึ้นไปพบว่าเสียชีวิตมากกว่าอายุ 60-69 ปีถึงครึ่งหนึ่ง หรือเสี่ยงอันตรายกว่า 2 เท่า กลุ่มนี้ต้องรับวัคซีนเพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะฉีดเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ในบางราย“แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ การฉีดเข็มกระตุ้นจึงจำเป็นมากในกลุ่ม 607 แม้จะเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เสี่ยงติดเชื้อจากภายนอกน้อย แต่ก็มีโอกาสรับเชื้อจากลูกหลาน คนที่ไปเยี่ยม

เพราะเชื้อโรคมองไม่เห็น และติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ เวลาไปเยี่ยมผู้ใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปใกล้ชิด ก็ทำให้สูงอายุติดเตียงมีโรคประจำตัว เกิดการติดเชื้อได้ จึงอยากให้ระวังป้องกัน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ที่มา khaosod