เต้ เตือน บิ๊กป้อม-2รมต. ช่วย สรัลรัศมิ์ หาเสียงระวังผิดกฎหมาย แนะลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียง ยันประชาชนมีอิสระ คุยกับผู้สมัครได้ทุกเบอร์
เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 26 ม.ค.2565 ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (กก.บห.) และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ช่วยนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส. กทม.เขต 9 หาเสียง พื้นที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อวานนี้ ตนได้เจอกับนายอนุชา และเห็นว่ามีคนมาช่วยหาเสียงจำนวนมาก ซึ่งเกิน 20 คน จึงเกรงว่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ตนจึงบอกนายอนุชาและนายสมศักดิ์ ว่าควรไปลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วย เพราะเกรงว่า หากไม่ใช่ผู้ช่วยหาเสียง จะมีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องรายจ่ายในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 1,500,000 บาท เพราะหากจะมาช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์ จะต้องเป็นผู้ช่วยหาเสียงเท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้แต่ละพรรคหาเสียงอย่างเท่าเทียมกัน ใช้เงินไม่เกินพรรคละ 1.5 ล้านบาท จึงมีการจำกัดไม่ให้มีผู้ช่วยหาเสียงแต่ละพรรคเกิน 20 คนและเปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าวันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงได้แจ้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงและแจกโบรชัวร์ให้ประชาชนหรือไม่ แต่เห็นชูมือสัญลักษณ์เบอร์ 7 อยู่ หากแจกโบรชัวร์ต้องลงเป็นผู้ช่วยหาเสียง จึงขอเตือนไปยัง พล.อ.ประวิตรและรัฐมนตรีทั้ง 2 คน เพราะหากแจ้งชื่อเป็นผู้ช่วยแล้ว ต้องรับเบี้ยเป็นผู้ช่วยหาเสียงด้วยวันละ 315 บาท หากไม่รับก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากรับก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
ฉะนั้น หากจะเดินหน้าถอยหลัง ขอให้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่ามีที่ปรึกษาด้านกฎหมายดี ก็น่าจะรอบคอบนิดหนึ่ง อีกทั้งเวลาที่แต่ละพรรคจัดเวทีปราศรัยตามธรรมเนียมแล้ว ประชาชนเป็นของส่วนกลาง ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งพรรคอื่นสามารถเข้าไปแจกโบรชัวร์ได้ เพราะหากห้ามเข้าไปในพื้นที่ จะถือว่าขัดขวางการเลือกตั้งและการหาเสียง
“ยกตัวอย่าง เช่น พปชร.จัดเวทีปราศรัย ผู้สมัครที่เหลือก็เข้าไปพูดคุยกับประชาชนและแจกโบรชัวร์ หากบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้ พรรคตนเองจัดมา ก็ต้องรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย แต่หากประชาชนมาร่วมรับฟังกันเอง ไม่ใช่การจัดตั้ง ต้องมีอิสระให้ประชาชนร่วมฟังและพูดคุยได้ทุกเบอร์ การหาเสียงต้องไปได้ทุกที่ ไม่สามารถจำกัดได้ เพราะหากมีการจำกัด จะผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 73(5) และมาตรา 71 ซึ่งมีความผิด” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
ที่มา khaosod.