• เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ทางการอินเดียเปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังทรงตัวอยู่ที่ 3,000-4,000 ศพต่อวัน 
  • มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจหาเชื้อที่อาจจะลดลงไม่สามารถสะท้อนตัวเลขได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเชื้อโรคได้ย้ายจากเมืองใหญ่เข้าสู่เขตชนบทห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังพึ่งพาแพทย์แผนโบราณ หรืออายุรเวช เป็นหลักมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน
  • ขณะที่อินเดียกำลังเจอความท้าทายใหม่ๆ ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อราดำมรณะ โรคแทรกซ้อนรุนแรงที่พบในผู้ป่วยหรือผู้ที่หายจากโควิดเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 9,000 รายแล้ว ในขณะที่ต้องสูญเสียแพทย์ไปกว่า 420 คนแล้ว ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ 

หลังจากเข้าสู่การระบาดรุนแรงรอบที่ 2 อินเดียก็กำลังเจอสถานการณ์ที่ซับซ้อนและความท้าทายใหม่ๆ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ติดเชื้อรายวันของอินเดียเคยทุบสถิติสูงสุดคือเกือบ 420,000 ราย เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ล่าสุดตัวเลขกลับลดลงไปกว่าครึ่ง

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 243,777 ราย นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 และตัวเลขอยู่ต่ำกว่าหลัก 3 แสนราย ติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยสะสมของอินเดียอยู่ที่ 26.5 ล้านราย

ขณะเดียวกัน อัตราการพบผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรลดลงจาก 24.83 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ล่าสุดมาอยู่ที่ 12.45% เรียกได้ว่าลดลงอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ออกมาประเมินว่าสถานการณ์น่าจะรุนแรงต่อไปจนถึงช่วงการแพร่ระบาดสูงสุดคือปลายเดือน พ.ค. ซึ่งอินเดียจะมีผู้ติดเชื้อรายวัน 5 แสนราย 

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่า แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่อัตราการติดเชื้อยังสูงกว่า 10% ใน 382 เขตทั่วประเทศ และสูงถึงกว่า 15% ใน 18 รัฐ และยังมีถึง 8 รัฐที่ยังมีผู้ป่วยที่รับการรักษาตัวอยู่เกิน 100,000 ราย นอกจากนี้มีอยู่ 6 รัฐที่จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงอย่างน่าวิตก ได้แก่ มหาราษฏระ กรณาฏกะ ทมิฬนาดู อุตตรประเทศ ปัญจาบ และเมืองนิวเดลี

สถานการณ์ดีขึ้นจริงหรือแค่ภาพลวงตา

แม้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดในอินเดียโดยรวมอาจจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ทางด้านนายแพทย์สุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก มองว่าตอนนี้การแพร่ระบาดในอินเดียยังไม่ได้เข้าสู่จุดสูงสุด โดยเฉพาะในเมืองที่อยู่ห่างไกล และตัวเลขยังสูงขึ้น อัตราการติดเชื้อยังอยู่ที่ 20% ของจำนวนคนที่เข้าตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงและบ่งบอกว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง โดยที่ผ่านมาเป็นที่เข้าใจกันว่าตัวเลขโควิดในอินเดียต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 10 เท่า

นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อยังเข้าไม่ถึงในหลายรัฐ แสดงให้เห็นว่าการตรวจหาเชื้อยังไม่เพียงพอ การจะประเมินว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วจริงหรือไม่ต้องดูที่ตัวเลขการตรวจหาเชื้อและอัตราการติดเชื้อที่พบด้วย ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ B.1.617 ที่พบในอินเดีย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังน่าวิตก

มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์โควิดในอินเดียที่ดีขึ้นในตอนนี้เป็นเพียงภาพลวงตา  ประการแรก เป็นพราะการตรวจหาเชื้อยังจำกัด ประการที่สอง ตัวเลขเหล่านี้มาจากผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันในแต่ละวันเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงตัวเลขที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล 

ขณะที่พายุไซโคลนที่เพิ่งพัดเข้าถล่มทางภาคตะวันตกของอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ต้องปิดศูนย์ตรวจหาเชื้อและศูนย์วัคซีนในรัฐคุชราต บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่งจะพุ่งขึ้น 30% ก่อนช่วงพายุเข้า

ในส่วนของการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็ทำได้อย่างล่าช้า จนถึงตอนนี้มีชาวอินเดียได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเพียง 40.4 ล้านคน คิดเป็นเพียง 2.9% ของจำนวนประชากร ทั้งที่อินเดียเป็นชาติผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ระบุว่า มีการตรวจหาเชื้อลดลงจริงตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.เป็นต้นมา จากวันละ 2 ล้านราย ลดลงมาอยู่ที่ 1.5 ล้านราย ในวันที่ 3 พ.ค. และปกติแล้วการตรวจหาเชื้อจะยิ่งลดลงต่ำกว่ามากในทุกวันอาทิตย์และวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์  

อย่างไรก็ตาม ทางสภาวิจัยการแพทย์อินเดียตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อมาเป็นวันละ 2.5 ล้านคน ให้ได้ภายในปลายเดือน พ.ค.นี้ 

ขณะเดียวกันบรรดาผู้เชี่ยวชาญยังจับตาดูสถานการณ์ในเมืองใหญ่กับเขตชนบทที่กำลังสวนทางกัน บ่งชี้ว่าตอนนี้เชื้อโรคกำลังหนีจากเมืองใหญ่ไปยังเขตชนบทห่างไกล เมื่อกรุงนิวเดลีมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 5% ในวันศุกร์ที่ 21 พ.ค. หลังจากเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. แต่ในรัฐทมิฬนาดูทางตอนใต้สุดของประเทศ และในรัฐเบงกอลตะวันตกกลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ลดลง

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงกว่าครึ่ง แต่หากมาดูจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันยังอยู่ที่ประมาณ 3,500-4,500 ศพ ไม่ได้ลดลงตามไป ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก และเมื่อไปตรวจสอบตัวเลขจากฌาปนสถานต่างๆ พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอาจสูงถึง 31,000 ศพ ทั้งนี้เป็นเพราะการเข้าถึงการรักษาทำได้ลำบาก

อย่างที่ทราบกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดียได้ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก ท่ามกลางภาวะขาดแคลนยา ออกซิเจน และวัคซีน ล่าสุดสมาคมการแพทย์อินเดียยังออกมาเปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้มีหมอทั่วประเทศติดโควิด-19 และเสียชีวิตไปแล้วถึงอย่างน้อย 420 คน ในการระบาดรอบ 2 ในจำนวนนี้เป็นคุณหมอในกรุงนิวเดลีกว่า 100 คน

นักไวรัสวิทยาระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ B.1.617 ยังมีส่วนทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่ลดลง ขณะที่การพบเชื้อราดำในผู้ป่วยโควิดก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง 

เชื้อราดำมรณะซ้ำเติมระบบสาธารณสุข

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในอินเดียออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อการพบเคสผู้ติดเชื้อ “มิวคอร์ไมโคซิส” (Mucormycosis) หรือเชื้อราสีดำ โรคแทรกซ้อนรุนแรงที่พบในผู้ป่วย หรือผู้ที่กำลังพักฟื้นจากโควิดเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจอเพียงไม่กี่รายต่อปีเท่านั้น โดยเชื้อราดำนี้เคยเกิดขึ้นได้ยาก แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% และบางครั้งผู้ป่วยจะรอดชีวิตได้ก็ต่อเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดนำดวงตา หรือกระดูกกรามออก เพื่อสกัดการกระจายเชื้อไปสู่อวัยวะสำคัญอย่างสมอง แม้การเกิดโรคนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวไวรัสโคโรนาโดยตรง แต่เป็นการซ้ำเติมระบบสาธารณสุขที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ

ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อราดำมรณะเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 9,000 รายแล้ว และหลายรัฐในอินเดียกำลังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลกลาง ประกาศให้การแพร่กระจายของเชื้อราสีดำตัวนี้เป็นการระบาดขึ้นมาอีกตัว เพื่อจะได้สามารถรับมือกับมันได้ดียิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีโมดี สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ รับมือกับโรคเชื้อราดำที่พบในผู้ที่รักษาตัวหายจากโควิดและในผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤติ และถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ของระบบสาธารณสุขอินเดียในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 นี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า จะเพิ่มการผลิตยา Amphotericin-B ที่ใช้ในการรักษาอาการของผู้ป่วยติดเชื้อราดำให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ. 

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์ 

ข้อมูล : India Timesscience.thewire.in Aljazeera,thairath