วันที่ 1 ก.พ. 2565 จากข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุสัปดาห์ที่ผ่านมาพบมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) โดยจังหวัดตรังพบผู้ป่วยทั้งหมด 3 ราย ทั้งหมดมีประวัติกิน ไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิต
ซึ่งภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์ โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน
และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ในเด็กจะไวต่อสารออกซิแดนท์มากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดอาการได้
นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในพื้นที่ของตรังเจอผู้ป่วยแล้ว 3 ราย เป็นผู้ป่วยอายุ 8-12 ปี อยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.สิเกา, อ.วังวิเศษ และอ.ห้วยยอด สำหรับอาการป่วยตอนนี้ก็หายเป็นปกติแล้ว โดบรายแรกอายุ 12 ปี ช่วงที่กินครั้งแรกแม่ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ สังเกตเห็นว่าหลังกิน 15 นาที มีอาการปากเขียวอ่อนแรง จึงรีบนำส่งรพ.
จากการตรวจสอบพบในไส้กรอกจะมีสารกลุ่มไนไทรต์ (Nitrites ) หากได้รับในปริมาณที่สูงอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ สารเหล่านี้เมื่อเข้าในร่างกายจะมีการแย่งออกซิเจนในร่างกายโดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคเลือด ที่ทำให้การขนส่งออกซิเจนลดน้อยลง
จากข้อมูลการสอบสวนเส้นทางไส้กรอกพบในอ.สิเกา 10 แพ็ค, อ.วังวิเศษ 30 แพ็ค, อ.ห้วยยอด 40 แพ็ค ลักษณะหีบห่อไม่มียี่ห้อ ไม่มีเครื่องหมาย อย.และสถานที่ผิตที่ชัดเจน ในห่อมีไส้กรอกหลายสีคละกัน ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว
ส่วนการดำเนินคดีผู้กระทำผิดจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผู้ผลิต และผู้ขาย ในส่วนของจังหวัดตรังจะมีเพียงผู้จำหน่าย ได้ลงสอบสวนข้อเท็จจริงทราบว่ามีแหล่งผลิตต้นทางมาจาก จ.สมุทรสาคร มีการส่งต่อมาที่ร้านค้าใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ซึ่งผู้ค้าในจ.ตรัง ได้ไปซื้อมาขายต่อและเป็นการรับมาขายเป็นครั้งแรก เมื่อทราบข่าวว่าสินค้ามีปัญหาก็ได้หยุดขายทันทีและเก็บให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ทาง สสจ.ตรังก็ได้ไปตักเตือนและแนะนำแล้ว ตอนนี้เราแจ้งไปที่สาธารณสุข อำเภอทุ่งสง ไปตรวจศูนย์จำหน่ายภาคใต้ตอนบน
ให้ลงไปดำเนินการ ส่วนแหล่งผลิตต้นสายอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ก็ได้แจ้งไปที่ อย. ก่อนจะประสานไปยังแหล่งผลิตเอง
ตอนนี้ทางสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ลงพื้นที่จําหน่ายเพื่อสืบแหล่งที่มาของไส้กรอกและเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จําหน่ายเพื่อตรวจวิเคราะห์
ยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และขอให้ ผู้บริโภคเลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน
ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารระบบ อาหาร ในกรอบเครื่องหมาย อย. และมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็นเพียงพอตลอดการจําหน่าย
เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับ ความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร 1556 หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง
ที่มา khaosod