สรุปเหตุการณ์ชุมนุม “ม็อบรถบรรทุก-แท็กซี่” เรียกร้องราคาน้ำมัน-ค่าก๊าซ ยกระดับ ขึ้นค่าขนส่ง 15-20% จ่อลงถนน หากไม่ได้รับการตอบสนอง แท็กซี่จ่อจอดทิ้ง

จากกรณีปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งตีคู่มากับปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งต่อมา กลายเป็นปัญหาระดับชาติ จนทำให้เริ่มมีคนออกเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว เนื่องจากว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

ล่าสุดวานนี้ (8 ก.พ.) บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและสมาชิก จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พลังของคนรถบรรทุกครั้งสุดท้าย หรือ Truck Power Final Season โดยมีรถบรรทุกมาเข้าร่วมนับ 100 คัน เต็มถนนวิภาวดีรังสิต เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร และขอให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า สหพันธ์ขอย้ำว่าสมาชิกและภาคประชาชน ต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาน้ำมันดีเซล ทั้งการตรึงราคา 25-27 บาทต่อลิตร ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือ 0.10 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซล

ขู่ขึ้นค่าขนส่ง 15-20% เริ่มวันนี้ ถ้าไม่ตอบสนอง จะลงถนน!

นายอภิชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรถขนส่งซึ่งแบกรับค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและผลกระทบจากโควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี หลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ผู้ประกอบการรถขนส่งจะเริ่มปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% ขึ้นอยู่กับแต่ละเครือข่ายสมาคมขนส่งว่าจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นทีเดียวทั้งระบบ การปรับขึ้นค่าขนส่งประชาชนจะได้เดือดร้อน และรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้แบกรับภาระนี้ต่อไป

“พร้อมกันนี้สหพันธ์ เตรียมยกระดับการเคลื่อนไหวชุมนุม หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้อง โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบรับหรือออกมาตรการแก้ไขภายใน 7 วัน หากยังไม่ได้รับการตอบรับ ผมก็พร้อมถอดหมวกประธานสหพันธ์ และจะร่วมกับกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดออกมาเคลื่อนไหว หรือลงถนนเพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลต่อไป” นายอภิชาติกล่าว

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมาเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันทุกชนิดลงเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน อาทิ น้ำมันดีเซลปัจจุบันเก็บภาษีสูงถึง 5.99 บาทต่อลิตร ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบต้นทุนอยู่ที่ 19 บาทต่อลิตร น้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ 22 บาทต่อลิตร แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทยสูงถึง 24 บาทต่อลิตร

“รัฐบาลมองไม่เห็นหัวประชาชน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะให้ความเป็นธรรมกับราคาพลังงาน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 7-8 ปี เรายังไม่เคยได้ความสุขคืนกลับมา หากรัฐบาลไม่สามารถลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามข้อเรียกร้อง เท่ากับเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลถูกแทรกแซงโดยเครือข่ายของกลุ่มธุรกิจพลังงานตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้มีรัฐมนตรีพลังงาน ที่ส่งตรงมาจากกลุ่มทุนพลังงานอย่างชัดเจน ซึ่งในอนาคตควรมีข้อบังคับกำหนดว่าไม่ให้ข้าราชการมาจากกลุ่มทุน และไม่ให้รับตำแหน่งนั่งอยู่ในบอร์ดของบริษัทเอกชนด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

คนแท็กซี่ ขอเอ็นจีวี 9 บาท/กิโลฯ หากไม่ได้รับการตอบสนอง จ่อจอดแท็กซี่ทิ้ง!

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงาน เรียกร้องพิจารณาปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจีสำหรับรถยนต์) ลงมาอยู่ที่ 9 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) นาน 3-6 เดือน หรือจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ จากปัจจุบันราคาเอ็นจีวีราคา 15.60 บาทต่อกก. และแอลพีจีอยู่ที่ 13.50 บาทต่อกก. และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

“ขณะนี้คนขับรถแท็กซี่มีรายได้ประมาณ 800 บาท เป็นค่าเชื้อเพลิง 500 บาท เหลือ 300 บาท หักค่าข้าวค่าน้ำเหลือเงินเข้าบ้านไม่ถึง 100 บาท ถ้าเป็นแท็กซี่เช่าซื้ออยู่ไม่ได้แน่นอน จึงอยากให้กระทรวงพลังงานเร่งช่วยเหลือ ถ้าไม่ได้รับการตอบรับข้อเสนอ สมาคมจะจอดแท็กซี่ทิ้งไว้บริเวณรอบกระทรวงพลังงานเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” นายวิฑูรย์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว จากเดิมทางสหพันธ์จะปักหลักค้างคืนหน้ากระทรวงพลังงาน ได้เปลี่ยนแปลงโดยจะจัดกิจกรรมถึงเวลา 20.00 น.เท่านั้น

ก.พลังงาน แจง เล็งหาทางช่วยคนเดือดร้อน

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีกระทรวงพลังงานการเตรียมปรับขึ้นราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) วันที่ 1 เมษายน หลังสิ้นมาตรการตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) วันที่ 31 มีนาคมว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะต้องดูสถานการณ์ราคาแอลพีจีช่วงนั้นอีกครั้ง

หากภาพรวมราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ก็จะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ซึ่งราคาแท้จริงปัจจุบันหากไม่มีการช่วยเหลือ จะสูงถึง 434 บาทต่อถัง 15 กก. แต่หากมีการปรับขึ้นเบื้องต้นอาจขยับเป็นขั้นบันได กก.ละ 1 บาทตลอด 1 ไตรมาส รวม 3 ไตรมาสถึงสิ้นปีขึ้น กก.ละ 3 บาท แต่ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่ผ่านการพิจารณาอย่างเป็นทางการ

จับตาช่วยรายกลุ่ม “แท็กซี่-คนจน”

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า มาตรการดูแลราคาพลังงานในภาพรวม นอกจากการมุ่งดูแลราคาน้ำมันดีเซล การเตรียมขึ้นราคาแอลพีจีแบบขั้นบันไดแล้ว กระทรวงพลังงานจะเข้าไปดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบรายกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น อาทิ กลุ่มคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันกระทรวงคลังช่วยเหลือแอลพีจีอยู่ 45 บาทต่อ 3 เดือน และจะหางบประมาณมาเพิ่มการช่วยเหลืออีก 55 บาทต่อ3เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน

ขณะที่รถแท็กซี่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะเข้าไปดูแลในส่วนอ็นจีวีเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้ได้ใช้เอ็นจีวีได้รับความช่วยเหลือจาก ปตท. ในราคา 13.62 บาทต่อกก. จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565 ซึ่งต่ำกว่าราคาปลีก 15.59 บาทต่อกก. นอกจากนี้ คาดว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะประเภทอื่น รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้เบนซินจะได้รับการดูแลจากมาตรการชุดใหม่ของกระทรวงพลังงานเช่นกัน

“ประยุทธ์” โร่งแจง น้ำมันแพง เป็นวิกฤตที่เจอกันทั้งโลก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายกรณีมาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคานำมันแพง จนทำให้กลุ่มรถสิบล้อออกมาประท้วงขับไล่รัฐมนตรีว่า

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ได้มีการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นไปแล้ว ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อน และคงไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว หลายประเทศก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการให้เดือดร้อนน้อยที่สุดโดยคำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่

ฮึ่ม! “ม็อบรถบรรทุก-แท็กซี่” ระวังทำผิดกฎหมาย

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงกรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เรียกร้องกรณีราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น พร้อมประกาศรวมตัวรถบรรทุกที่หน้ากระทรวงพลังงาน นั้น ขบ. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการขนส่งสินค้า มีความห่วงใยและเข้าใจถึงผลกระทบของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่สถานการณ์ โควิด-19 แพร่ระบาด รวมถึงราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงพลังงานก็ได้มีการพิจารณาแนวทางในการลดผลกระทบ เช่น การใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อลดผลกระทบ ทั้งนี้ ขบ. ขอแสดงความห่วงใย ขอให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ขับรถบรรทุก แสดงออกอย่างเหมาะสมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านในเส้นทาง

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ที่ได้นำรถแท็กซี่จำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มรถบรรทุก เพื่อขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับลดราคาก๊าซ NGV ขอให้แสดงออกภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบก ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ โดยเน้นไปที่การลดต้นทุน เพิ่มรายได้

เช่น การอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่นติดตามรถแทน GPS และได้พัฒนา Application เรียกใช้บริการรถแท็กซี่ อนุญาตให้มีการติดตั้งสื่อโฆษณาบนแท็กซี่ และได้ขยายอายุแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี รวมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจาก โควิด-19

ทั้งนี้ ขบ.ได้ส่งผู้ตรวจการสังเกตการณ์สถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว และจะเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการขนส่งและผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะต่อไป

ที่มา khaosod.