ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาการสะสมของขยะพลาสติกได้ก่อให้เกิดวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในมหาสมุทรและสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ทั่วโลก ทว่าเมื่อพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋ว อนุภาคเหล่านี้ก็เดินทางเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ปนเปื้อนกลายเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

แนวคิดของการแปลงขยะพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะพัฒนาวิธีที่ได้ผลดีและยั่งยืน ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าได้พัฒนากระบวนการเร่งปฏิกิริยาคาร์บอนและตัวทำละลายโดยใช้รูทีเนียม (ruthenium) เพื่อเปลี่ยนพลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ถึง 90% ให้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินและผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 220 องศาเซลเซียส

และด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิวิจัยวอชิงตัน (Washington Research Foundation) นักวิจัยเผยว่ากำลังดำเนินการเพื่อขยายกระบวนการสำหรับการพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการพัฒนาใหม่นี้จะทำงานร่วมกับพลาสติกประเภทอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน.

ที่มา:thairath