เจ้าท่า ฟันไม่เลี้ยง แจ้งความ สตาร์ ปิโตรเลียมฯ ทำน้ำมันรั่วซ้ำ รวม 4 ข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งแอบใช้ทุ่นเทียบเรือ–จงใจซ่อนเร้นหลักฐาน ร้องตร.ห้ามปล่อยตัวชั่วคราว
วันที่ 11 ก.พ.65 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณี บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ทำน้ำมันรั่วซ้ำตรงบริเวณเดิม ห่างจากทุ่นที่รั่ว ไกลจากฝั่งประมาณ 25 กิโลเมตรว่าเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจังหวัดระยอง ได้มอบอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด กรณีเหตุน้ำมันรั่วไหล วันที่ 10 ก.พ.2565 บริเวณทุ่ม ของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ. เวลาประมาณ 09.20 น. เกิดเหตุน้ำมันดิบของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) บริเวณทุ่นเทียบเรือชนิด SINGLE POINT MOORING รั่วไหลลงทะเลน่านน้ำไทย ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ อันเป็นความผิดตามมาตร119 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535
ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ในฐานะผู้เสียหาย จึงดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับกรรมการบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้กระทำความผิดและบุคคลที่ในส่วนเกี่ยวข้องจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานความผิด คือ 1.ฐานความผิดตามาตรา 119 ทวิทวิแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 กรณีก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นคดีที่ต่างกรรมต่างวาระกับการกระทำผิดซึ่งได้ร้องทุกข์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565
2.ฐานความผิดมาตร 297 แห่งพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456และแก้ไขเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่า ที่สั่งให้ระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือจนกว่าจะซ่อมแซมแก้ไขให้แล้วเสร็จ รวมทั้งจะต้องใช้ความระมัดระวังโดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการตลอดจนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลในขั้นตอนการแก้ไขหรือซ่อมแซม
โดยจะต้องมีหลักฐานการตรวจสอบที่สามารถยืนยันว่า ไม่มีน้ำมันค้างท่อส่งสินค้า และแจ้งให้สำนักงานเข้าท่าฯทราบก่อนดำเนินการทุกครั้ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล แต่บริษัทฯ กลับฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่แจ้งเจ้าหนน้าที่อีกครั้ง รวมทั้งไม่ตรวจสอบให้แนะชัดว่ามีน้ำมันค้างอยู่ในท่อก่อนการดำเนินการ จนเป็นเหตุให้น้ำมันรั่วลงทะเล
3.ในฐานความผิดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือท่ำให้สุญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
และ4.ฐานความผิดตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายควบคุมมลพิษ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป
“จากการพิจารณาพฤติกรรมแห่งการกระทำความผิดครั้งนี้ มีเหตุเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานซึ่งใช้ในการกระทำความผิด ทำให้เป็นอุปสรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานในคดีที่ร้องทุกข์ไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 จึงขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งการไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้กระทำความผิดในคดีอาญา
ที่มา khaosod.