ระวังอย่าหลงกล ตำรวจเตือน 3 ภัย หลอกรักออนไลน์ ช่วงวาเลนไทน์ รักมาก เปย์มาก สุดท้ายใจสลาย
วันที่ 14 ก.พ. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น
ด้วยในวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันเทศกาลวาเลนไทน์ หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลแห่งความรัก ที่คู่รักทั่วโลก รวมถึงคู่รักในประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกถึงความรัก ด้วยการส่งดอกไม้ ของขวัญ เงิน ให้คนรักเนื่องในโอกาสพิเศษนี้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาศัยโอกาสจากเทศกาลแห่งความรัก มาหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากพี่น้องประชาชน โดยอาชญากรรมออนไลน์ที่คนร้ายเป็นชาวต่างชาติใช้ความรักในการหลอกลวงเหยื่อหลักๆ มี 3 ประเภท ดังนี้
1. Romance Scam หลอกรักให้เปย์ แล้วเททิ้ง คนร้ายเป็นแก๊งชาวผิวสี เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโดยใช้รูปผู้อื่นส่วนใหญ่จะปลอมเป็นชาวยุโรป อเมริกัน หรือชาวตะวันออกกลาง ที่หน้าตาดี หล่อ รวย หน้าที่การงานดี มีการใช้ชีวิตที่หรูหราเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป้าหมายคือหญิงไทยอายุ40ปีขึ้นไป)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
โดยอ้างว่าภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง อยากใช้ชีวิตที่เหลือกับหญิงไทย โดยถูกใจเหยื่อมากใช้วิธีการแชทเรียกเหยื่อหวานหยดย้อย เช่น Darling , Sweetheart , My love พอเหยื่อหลงเชื่อและหลงรัก ก็จะเริ่มหลอกลวงเพื่อหวังเงินจากเหยื่อโดยจะใช้วิธีการต่างๆ ได้แก่ อ้างว่าจะส่งทรัพย์สินมีค่ามาให้
จากนั้นจะมีผู้ร่วมขบวนการซึ่งเป็นคนไทยจะติดต่อเหยื่อโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือบริษัทส่งของระหว่างประเทศ มีการเรียกเก็บภาษีหรือค่าปรับจากเหยื่อ , อ้างว่าป่วยแต่ประกันสุขภาพมีปัญหา ขอให้เหยื่อโอนค่ารักษาพยาบาลมาให้ , อ้างว่าได้รับมรดกจำนวนมากแต่ต้องมีการจ่ายภาษีมรดกก่อน ขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินมาให้ และ อ้างว่าได้รับสัมปทานหรือทำสัญญากับภาครัฐ จะได้ผลกำไรจำนวนมาก ขอให้เหยื่อโอนเงินมาจ่ายให้กับภาครัฐก่อนทำสัญญา เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะสูญเงินทั้งหมดไป
2. Hybrid Scam หลอกรักชวนลงทุน คนร้ายเป็นแก๊งชาวจีน เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวยชาวเอเซีย น่าเชื่อถือ ลักษณะเหมือนนักธุรกิจ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป็นผู้ชายอายุ30ปีขึ้นไปที่เข้าใจระบบการลงทุนออนไลน์)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อหรือหลงรัก คนร้ายก็จะบอกกับเหยื่อว่ามีธุรกิจใหม่น่าลงทุน ผลตอบแทนสูง เช่น การเทรดค่าเงินต่างประเทศ อ้างว่าได้กำไรแน่นอน
จากนั้นจะส่งลิงก์แอพพลิเคชัน มาให้เหยื่อติดตั้งในโทรศัพท์ และเริ่มมีการนำเงินมาลงทุน แรกๆ จะได้กำไรจริง จากนั้นจะชักชวนเหยื่อให้เพิ่มวงเงินการลงทุน เมื่อเทรดแล้วได้กำไร การจะนำเงินออกจากระบบต้องจ่ายภาษี 30-40% เช่น ถ้าลงทุนได้กำไร 1,000,000 บาท ต้องโอนเงินประมาณ 400,000 บาท เจ้าระบบก่อน เมื่อเหยื่อโอนเงินเข้าระบบแล้ว ก็จะไม่สามารถถอนเงินออกได้ทำให้เหยื่อหลงเชื่อสูญเงินเป็นจำนวนมาก
3. Sextortion หลอกให้ถ่ายคลิปช่วยตัวเองแล้วเอามาแบล็กเมล์ (Blackmail) คนร้ายเป็นแก๊งชาวฟิลิปปินส์ เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวย เซ็กซี่ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ(เป็นผู้ชาย ที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีฐานะดี เป็นที่นับถือในสังคม เป็นคนรักครอบครัว)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อจะขอ วิดีโอคอล ชักชวนให้เหยื่อถ่ายคลิปวิดีโอ ช่วยตัวเองหรือภาพลามกของเหยื่อส่งมาให้กับคนร้าย
จากนั้นจะบันทึกภาพหรือคลิปของเหยื่อไว้ นำมาข่มขู่เอาเงิน หากไม่ยินยอมจะขู่ว่าปล่อยคลิปดังกล่าวสู่สาธารณะ หรือส่งให้ภรรยา ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนของเหยื่อ จนเหยื่อต้องจำใจโอนเงินไปให้คนร้ายเพราะไม่อยากเสื่อมเสียชื่อเสียง
จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อ โอนเงิน ถ่ายคลิปลับ มอบสิ่งของ กับบุคคลในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่เคยรู้จักหรือพบตัวจริงของบุคคลดังกล่าว หรือมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะอาจตกเป็นเหยื่อจากการใช้ความรักมาหลอกลวงได้ และหากพี่น้องประชาชนพบว่าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด มีพฤติกรรมในรูปแบบดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา khaosod.