วันที่ 15 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ขั้นตอนเข้ารักษา “โควิด” ตามสิทธิฟรี หากปลดพ้นฉุกเฉิน ช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่
ที่เรายังไม่มีความรู้มากพอ จึงจำเป็นต้องควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เมื่อพบผู้ติดเชื้อจึงนำเข้าสู่การแบกกักรักษาในสถานพยาบาล
เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ แต่เมื่อ รพ.รัฐเริ่มรับผู้ติดเชื้อไม่เพียงพอ ต้องให้ รพ.เอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. จึงมีการนำสิทธิเจ็บป่วยฉุกฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP) มาใช้โดยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้
ทั้งนี้ การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การัรกษาในสถานพยาบาลทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยโรคอื่นได้รับผลกระทบในการเข้ารับบริการ และไม่มีเตียงรองรับ
แม้จะมีการเปิด รพ.สนาม ฮอสปิเทล มารองรับแล้วก็ตาม จึงนำมาสู่การรักษาด้วยระบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งพบว่า ไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ
และเมื่อเชื้อกลายพันธุ์จนมาเป็น “โอมิครอน” ซึ่งแพร่เร็ว แต่ความรุนแรงลดลง โดยผู้ติดเชื้อ 80-90% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้
ดังนั้น แนวทางการนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่สถานพยาบาลจึงไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมีแนวคิดนำโรคโควิด 19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต
เพราะอาการป่วยของผู้ติดเชื้อไม่ได้ฉุกเฉินวิกฤตอีกต่อไป จึงเตรียมปรับให้กลับมาใช้ระบบการรักษาตามสิทธิที่ประชาชนมีอยู่แล้ว ได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) , ประกันสังคม , สวัสดิการข้าราชการ และบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ซึ่ง สธ.ยืนยันชัดเจนว่า ยังเป็นการรักษาฟรีตามเดิม แต่ให้ไปรับบริการใน รพ.ตามสิทธิ
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงเข้าข่ายภาวะฉุกเฉิน เช่น หอบเหนื่อยรุนแรง ช็อก เป็นต้น ก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ตามปกติ ซึ่งมีการกำหนดลักษณะหรือเกณฑ์อาการที่เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตไว้แล้ว
สำหรับแนวทางหรือขั้นตอนการรักษา “โควิด” ตามสิทธิที่มีฟรี สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1.เมื่อผลการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นบวก ให้ติดต่อกองทุนสิทธิการรักษาของตนเองเพื่อขอเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน ซึ่งโรงพยาบาลเครือข่ายของแต่ละกองทุนจะมีการจัดระบบ Home Isolation ไว้รองรับอยู่แล้ว โดยบัตรทองโทร 1330 , ประกันสังคมโทร 1506 , เบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร 02-2706400 และสิทธิต่าวด้าวโทร 02-5901578
2.ผู้ติดเชื้อจะได้รับการติดต่อกลับ เพื่อประเมินอาการ หากสามารถทำ Home Isolation ได้ จะมีสถานพยาบาลใกล้บ้านเข้ามาดูแล โดยแจกอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร 3 มื้อ และมีการติดตามอาการทุกวัน
3.หากไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ จะมีการติดต่อประสานเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) หรือหากสถานพยาบาลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลมีฮอสปิเทล ก็อาจปรับมาดูแลยังฮอสปิเทลได้
4.หากระหว่างการดูแลรักษาที่บ้านมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการรุนแรงขึ้น จะได้รับการส่งต่อเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลตามระบบ
5.กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก หากไม่ได้โทรเข้าระบบ อาจติดต่อสถานพยาบาลเครือข่ายตามสิทธิ เพื่อขอเข้ารับการดูแล โดยสิทธิข้าราชการสามารถเข้ารับการดูแลจาก รพ.รัฐได้ทุกแห่ง , สิทธิบัตรทอง เข้ารับการดูแลจากโรงพยาบาลเครือข่ายบัตรทองตามนโยบายรักษาทุกที่ , สิทธิประกันสังคม อยู่ระหว่างการหารือในวันที่ 15 ก.พ.นี้ แต่มีแนวทางให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมทั้งหมดเช่นกัน และสิทธิต่างด้าวให้เข้า รพ.ที่ลงทะเบียนไว้
6.กรณีผลตรวจเป็นบวก แต่ไม่ต้องการเข้ารับการดูแลตามสิทธิการรักษาที่มี โดยต้องการเข้า รพ.เอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา กรณีนี้จำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือใช้ประกันสุขภาพเอกชนที่ซื้อไว้มาเคลมได้
7.กรณีติดเชื้อโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินวิกฤตสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาได้ทุกที่ที่ใกล้บ้าน โดยเกณฑ์พิจารณาอาการวิกฤตมี 6 กลุ่มอาการ ได้แก่ 1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัด มีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ดังนั้น แม้จะปรับโรคโควิด 19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 เมษายน ตามข้อเสนอของนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ยืนยันได้แน่คือ การรักษาโควิดยังฟรีตามเดิม แค่เปลี่ยนกระเป๋าเงินจ่าย จากงบกลางโควิดมาเป็นกองทุนสิทธิการรักษาที่มีอยู่เดิมก็เท่านั้น
ที่มา khaosod