ยุคดิจิทัล การค้าขายต้องพึ่งพาระบบออนไลน์ ปัจจุบันจึงเกิดแพลตฟอร์มต่างๆขึ้นมากมาย เพื่อเป็นตัวเชื่อมอัตโนมัติระหว่างเกษตรกรต้นทาง ชุมชน ไปจนถึงผู้บริโภค
“Herbs Starter” ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจ และสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น GI OTOP Organic รายแรกของไทย ที่พัฒนาต่อยอดให้เกษตรกรขับเคลื่อนธุรกิจได้เอง พร้อมเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงชุมชน และสามารถนำองค์ความรู้กลับไปสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้อย่าง
นางสาวอิสรีย์ นิตยสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท บอร์น อาร์ดีไอ เซ็นเตอร์ จำกัด หนึ่งในสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2563 หรือ SUCCESS 2020 ดำเนินงานโดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า Herbs Starter เป็นสื่อกลางที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน แปรรูปสินค้าได้ตามต้องการ โดยแพลตฟอร์มนี้จะค้นหา ถ่ายทอด และส่งต่อเรื่องราวของสินค้า GI OTOP หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตนอกพื้นที่ได้
แพลตฟอร์มนี้จะเป็นแหล่งตลาดสินค้าชุมชน GI OTOP Organic รายแรกของไทย สามารถช่วยชุมชนในการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด และทดสอบตลาดขายจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย เนื่องจากต้องลงทุนมากและเกษตรกรยังไม่มีความพร้อม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น กาแฟเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ทำให้ต้นกาแฟค่อยๆสะสมอาหาร เม็ดจึงสมบูรณ์ มีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่หาไม่ได้ในกาแฟที่ปลูกพื้นที่อื่น
“ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่จะคล้ายๆกัน คือปลูกเก่ง แปรรูปขั้นต้นได้ แต่ยังขายไม่ค่อยเก่ง ที่สำคัญ ไม่รู้ความต้องการว่าตลาดต้องการอะไร ดังนั้นหน้าที่ของ Herbs Starter คือ ไปช่วยเขาคิด ช่วยต่อยอด แก้ปัญหาที่เขาติดขัดเล็กน้อย และเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดได้จริงๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะทำให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้เพียงปลายนิ้ว และสามารถดูข้อมูลได้ว่าสินค้านี้มาจากไหน แหล่งผลิตจากที่ใด และสินค้าที่ลูกค้าได้เลือกซื้อก็มีการรับรองและคัดสรรมาอย่างดี”
ยิ่งในยามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ไม่นิยมออกมาซื้อสินค้าตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือชุมชน หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์ และต้องมีการบริการที่รวดเร็ว สินค้าต้องมีมาตรฐาน เพื่อรับประกันสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนจากสินค้าที่เป็นของฝาก มาเป็นสินค้าที่สามารถใช้หรือรับประทานได้ เช่น มะเขือเทศ เชอร์รี มะขามคลุกน้ำตาลไร้เมล็ด ขนมปังลำไย กาแฟเทพเสด็จ หมากเม่าจากเทือกเขา มะดันริมน้ำ ข้าวบนดอย กระเทียมน้ำแร่ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีปี 2564 (SUCCESS 2021) ได้ตั้งแต่บัดนี้-31 พฤษภาคม 2564 ที่ www.facebook.com/NSTDABIC
ที่มา:thairath