‘เบียร์’ เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และผู้คนจำนวนมากก็หลงใหลในรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์
แต่ทว่าก็ไม่สามารถลิ้มรสชาติได้อย่างเต็มที่ เพราะด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเบียร์นั้น จะส่งผลให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปเริ่มสูญเสียสติสัมปชัญญะ และอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ จึงทำให้ที่ผ่านมาได้เริ่มมีการ วิจัยและพัฒนา ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ ขึ้นมา เพื่อลดปัญหาดังกล่าวแต่ทว่ารสชาติที่ได้มานั้นกลับไม่อร่อยถูกปากนักดื่มเท่าไหร่นัก
แต่เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ในเดนมาร์กก็ได้อ้างว่าพวกเขาสามารถผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่ยังคงไว้ซึ่งรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปัญหาที่พบในการผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ก็คือกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของ ‘ฮ็อปส์’ นั้นหายไป ไม่ว่าจะมีความพยายามโดยทำให้ร้อนหรือการหมักให้น้อยที่สุด ซึ่งนั่นส่งผลให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์จึงมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากเบียร์ธรรมดาทั่วไป
** ทั้งนี้ ฮ็อปส์ (Hops) คือพืชไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่มักนำมาตากแห้งและใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเบียร์ เพื่อให้เกิดเป็นกลิ่นและรสขมของเบียร์ **
ทาง ดร.โซทิริออส คัมปรานิส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก จึงได้มีการดัดแปลงพันธุกรรมของยีสต์สายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อว่า Saccharomyces Cerevisiae ที่ช่วยผลิตโมเลกุลที่ถูกพบในฮอปส์ได้
“สิ่งที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ขาดไปก็คือกลิ่นหอมจากฮ็อปส์ มื่อคุณเอาแอลกอฮอล์ออกจากเบียร์ เช่น การทำให้ร้อนขึ้น คุณก็จะทำลายกลิ่นที่ได้จากฮ็อปส์ไปด้วยหรือแม้กระทั่งวิธีอื่นเช่นการลดการหมักให้น้อยที่สุดก็ไม่อาจทำให้เบียร์มีกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมได้อยู่ดี เนื่องจากแอลกอฮอล์จำเป็นสำหรับฮ็อปส์ในการถ่ายทอดรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับเบียร์” ดร.คัมปรานิสกล่าว
และหลังจากที่ดร.คัมปรานิสได้ทำการวิจัยมาหลายปี ในที่สุดก็ได้พบวิธีที่จะผลิตกลุ่มของโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘โมโนเทอร์พีนอยด์’ ที่ทำให้เกิดรสชาติของฮ็อปส์ขึ้น ซึ่งการเพิ่มโมเลกุลเหล่านี้ลงไปในเบียร์หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตจะทำให้รสชาติของเบียร์ที่หายไปกลับคืนมา ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้มาก่อน ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไปได้อย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้วิธีการสร้างกลิ่นหอมของฮ็อปส์ขึ้นมาใหม่โดยใช้โมโนเทอร์พีนอยด์นี้กำลังได้รับการทดสอบในโรงเบียร์ทั่วประเทศเดนมาร์ก และคาดว่าจะพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ทั้งหมดของเดนมาร์กภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นวัตกรรมของดร.คัมปรานิสจะมีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศทั้งหมด และยังมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการปลูกฮ็อปส์นั้นเป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก โดยฮ็อปส์ 1 กิโลกรัมจะต้องใช้น้ำไม่น้อยกว่า 2.7 ตัน
“ด้วยวิธีของเรา จะทำให้เราลืมฮ็อปส์ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งด้วยเหตุนี้จะสามารถลดการใช้น้ำและเรื่องการขนส่งไปได้มาก เท่ากับว่าการผลิตกลิ่นฮ็อปส์ 1 กิโลกรัมจะใช้น้ำน้อยกว่าเดิม 10,000 เท่า และลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 100 เท่า” “เมื่อโมเลกุลของฮ็อปส์ได้มาจากยีสต์ เราจะรวบรวมและใส่ลงไปในเบียร์ ทำให้ได้รสชาติของเบียร์ไร้แอลกอฮอล์กลับมาเป็นเบียร์ที่เราคุ้นเคยอีกครั้ง” ดร.คัมปรานิสกล่าว
ที่มา khaosod