บิ๊กตู่ เตรียมถก ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 23 ก.พ.นี้ จ่อ ปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร และแผนการฉีดวัคซีน

วันที่ 22 ก.พ.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 ก.พ.

โดยที่ประชุม ศบค. จะมีการพิจารณาการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร แผนการให้บริการวัคซีน โดยจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือประชาชนงดเข้าสถานที่เสี่ยง เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ดังนั้นหากมีความเสี่ยงขอให้กักตัวเอง โดย มาตรการในการควบคุมโรคยังมีความสำคัญ

นายธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังยืนยันถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ประชาชนสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการปอดบวม มีไข้สูง อยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือภาวะการเข้าข่าย ฉุกเฉิน ก็สามารถเข้ารักษา ยังหน่วยบริการนอกระบบตามหลักเดิมของ UCEP ที่มีอยู่เดิมได้

นายธนกร กล่าวอีกว่า แต่หากไม่มีอาการก็เข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งสิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ UCEP คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง สำหรับประกาศยกเลิกการกำหนดให้ผู้ “ติดโควิด” เป็น “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” หรือ UCEPแล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันที่ 22 ก.พ.นี้ รวม 18,363 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 18,236 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 127 ราย ผู้ป่วยสะสม 526,126 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 15,651 ราย หายป่วยสะสม 389,302 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 169,074 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ล่าสุดการให้บริการวัคซีน โควิด-19 สะสมอยู่ที่ 121,989,737 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 53,180,882 โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 49,497,055 โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 17,806,551 โดส เข็มที่ 4 ฉีดสะสม 1,505,249 โดส

ส่วนทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 10,558 ล้านโดส ใน 205 ประเทศ และเขตปกครอง โดยขณะนี้อัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกที่ 29.1 ล้านโดสต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนการฉีดวัคซีนสูงที่สุดที่ 550 ล้านโดส โดยมีชาวอเมริกันกว่า 215 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส

ที่มา khaosod.