บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ขานรับนโยบายการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จับมือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางอาหารเพื่อสัตว์ป่า ส่งต่อ ผัก ผลไม้ และอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ จากสาขาแม็คโคร เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 27 แห่งกว่า 26,600 ตัว  พร้อมตั้งเป้าสู่  “Zero Food Waste to Landfill” ในปี 2030

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นองค์กรที่มีนโยบายในการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรที่มุ่งลดปริมาณขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ รวมทั้งมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์  ภายในปี 2030  ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางอาหารเพื่อสัตว์ป่า ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็เพื่อสานต่อนโยบายดังกล่าว ด้วยการนำ ผัก ผลไม้ และอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้ว จากแม็คโคร 17 สาขาใน 14 จังหวัด ไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าจำนวน  27 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ

“แม็คโครมุ่งมั่นดำเนินนโยบายลดการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Waste) อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับโครงการนี้ที่เราเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ป่าให้ดีขึ้น โดยให้การสนับสนุน ผัก ผลไม้ และอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้แล้ว เฉลี่ยเดือนละ 20 ตัน ให้กับ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวมแล้ว 27 แห่ง ซึ่งนอกจากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ แล้ว ยังมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ด้วย”

ทั้งนี้  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ การช่วยเหลือและเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ป่า  ซึ่งมีสัตว์ป่าในความดูแลจำนวน 409 ชนิด จำนวนกว่า 26,600 ตัว  กระจายอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์บึงฉวาก รวม  27 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับ กิจกรรมสำคัญที่แม็คโคร ดำเนินการเพื่อสานต่อนโยบายการจัดการอาหารส่วนเกินเป็นศูนย์  ประกอบด้วย การบริหารจัดการสินค้าในสาขาเพื่อป้องกันการเกิดเศษอาหารส่วนเกิน การนำอาหารหมดอายุที่จำหน่ายไม่ได้มาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ (EM) – การบริจาคเศษอาหารเพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก อาทิ เทศบาล กรมราชทัณฑ์ เป็นต้น

“ที่ผ่านมา แม็คโคร ตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารสู่การฝังกลบปีละ 22,000 ตัน ส่งผลให้เกิดการดำเนินงานที่หลากหลายเป็นไปตามเป้าหมายความยั่งยืน 2030 นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการนำผลผลิตเกษตรที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ ไปทำประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนโดยรอบสาขา และสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานของเรา ในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย” นางศิริพร กล่าว

ที่มา matichon