กทม.เร่งแก้สะพานข้ามคลองเคล็ด ถนนอุดมสุข ทรุดตัว จากอุโมงค์ระบายน้ำ จี้ซิโน-ไทย เยียวยา รับผิดชอบ ชี้ยังอยู่ระหว่างการขยายสัญญาก่อสร้าง
วันที่ 1 มี.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุดตัวว่า จากเหตุสะพานข้ามคลองเคล็ด ถนนอุดมสุข ทรุดตัวเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. ส่งผลทำให้เสาไฟฟ้าและบ้านพักอาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายจากการทรุดตัวจำนวน 5 หลัง อาคารพาณิชย์บริเวณข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง 11 คูหา
ตรวจสอบพบว่า สาเหตุเกิดจากน้ำใต้ดินรั่วไหลเข้ามาทางปล่องรับน้ำอาคารคลองเคล็ด (Shaft S3) ส่งผลให้ดินที่อยู่โดยรอบสะพานและพื้นที่ไกล้เคียง ไหลเข้ามาในปล่องรับน้ำ ทำให้เสาเข็มของสะพานเกิดการทรุดตัว สร้างความเสียหายที่โครงสร้างด้านบน ท่อประปาแตกเสียหาย และเกิดถนนทรุดตัวความยาว 80 เมตร ความลึก 1.50 ถึง 2.50 เมตร ช่วงตั้งแต่คลองเคล็ดไปถึงทางแยกศรีอุดม ถนนศรีนครินทร์
ดังนั้น สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง สถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ ได้เร่งแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวางแนวทางแก้ไขปัญหา 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การแก้ปัญหาใต้ดิน จะแก้ปัญหาน้ำและดินที่มีการรั่วไหลเข้าไปภายในปล่องรับน้ำอาคารคลองเคล็ด (Shaft S3) โดยจะใช้กระสอบทรายทำการเรียงปิดกั้นน้ำ พร้อมถมทรายภายในปล่องรับน้ำเข้าอุโมงค์ซอยอุดมสุข 56 (Shaft S4) เพื่อแข็งแรงและปิดกั้นน้ำที่จะรั่วไหลเข้าไป พร้อมสูบน้ำจากบึงหนองบอน ลงไปในปล่องรับน้ำบึงหนองบอน (Shaft S1) และปล่องรับน้ำคลองหนองบอน (Shaft S2) เพื่อให้ระดับน้ำภายในอุโมงค์จาก Shaft S1 ถึง Shaft S4 มีระดับเท่ากันกับระดับน้ำใต้ดิน เพื่อรักษาความสมดุลของแรงดันน้ำ (Balance Water Pressure) ไม่ให้แรงดันน้ำส่งผลกระทบที่จะทำให้เกิดจุดรั่วซึมขึ้นมาอีก และจะสำรวจอย่างละเอียดเพื่อแก้ไขเป็นการถาวรขั้นต่อไป
2.การแก้ปัญหาบนผิวดิน ได้ถมวัสดุผิวทางบริเวณถนนที่ยุบตัวบนถนนอุดมสุข โดยจะรื้อย้ายเสาเข็มสะพานข้ามคลองเคล็ดที่ทรุดตัวเสียหายออก จากนั้นจะก่อสร้างสะพานชั่วคราวเริ่มจากซอยอุดมสุข 58 ถึงอุดมสุข 53 ความยาวรวมประมาณ 100 เมตร ซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 1 สัปดาห์ เมื่อเสร็จ สามารถเปิดการจราจรบนถนนอุดมสุขชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
3.การแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่โดยรอบเพื่อลดผลกระทบ โดยแขวงการทางสมุทรปราการและตำรวจจราจร ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการปิดเส้นทางการจราจรบนถนนอุดมสุข และทางเบี่ยงทางลัดต่อผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรดังกล่าว พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักงานเขตประเวศ เขตพระโขนง และเขตบางนา ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรและแนะนำการใช้เส้นทาง จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณสะพานลอย และตามเส้นทางก่อนเข้ามาในถนนอุดมสุขเพื่อให้ประชาชนได้หลีกเลี่ยงเส้นทางบนถนนอุดมสุข โดยได้ติดตั้งป้ายและประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อด้านต่างๆ
4.การแก้ปัญหาระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง มีความจำเป็นต้องตัดไฟ และปิดการจ่ายน้ำ จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน โดยการประปานครหลวง อยู่ระหว่างวางท่อ HDPE ชั่วคราวเพื่อจ่ายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนการไฟฟ้านครหลวง อยู่ระหว่างติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราวให้กับบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งจะเข้าติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าถาวรหลังจากผู้รับจ้างได้ถมวัสดุผิวทางที่ยุบตัวแล้วเสร็จ
ด้านนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน กทม. ได้มีการลงนามกิจการร่วมค้าเอสที-เอสจี (ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามูลค่าโครงการ 4,925,665,000 บาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 13 ม.ค.59 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 15 ก.พ.65 ระยะเวลาก่อสร้าง 2,226 วัน แต่ปัจจุบันเกิดสถานการณ์โควิด ผู้รับจ้างจึงขอขยายสัญญาออกไปอีก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาขยายสัญญา สะพานข้ามคลองเคล็ด บริเวณปากซอยอุดมสุข 60 เขตประเวศ เกิดการทรุดตัว ดังนั้น ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ ทั้งการสร้างปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนและอาคาร (ตึกแถว) ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งการจัดหาที่อยู่ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย เพราะถือว่าผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานและโครงการก่อสร้างดังกล่าวยังไม่เสร็จ
ขณะเดียวกันยังได้กำชับผู้รับจ้าง ให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้าง ต้องจัดให้มีเครื่องหมาย ไม้กั้น หรือสิ่งประกอบอื่นๆ ตลอดจนไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ เพื่อความปลอดภัยแก่การจราจรด้วย
ที่มา khaosod