วิโรจน์ ข้องใจ เหตุสะพานข้ามคลองเคล็ดทรุด กทม.ตรวจรับงานมาได้อย่างไร ฉะ ผู้ว่าฯ กลัวเหยียบตาปลานายทุน แนะเอาผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสะพานข้ามคลองเคล็ด ถนนอุดมสุข ทรุดตัว จากอุโมงค์ระบายน้ำที่เพิ่งเปิดใช้งานว่า ความจริงโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนมีอยู่หลายจุดมาก จากการพูดคุยสอบถามพบว่า เลยกำหนดตามสัญญา เคยมีการทวงถาม และไม่มีการปรับผู้รับเหมา คำถามคือ ทำไมถึงไม่ปรับผู้รับเหมา และจะล่าช้าไปถึงเมื่อใด ซึ่งไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน
กรณีสะพานข้ามคลองเคล็ด เท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่หน้างาน พบว่าปัญหาน่าจะเกิดจากรอยแตกระหว่างช่องชาร์ปกับตัวอุโมงค์ คำถามคือ มีการรายงานปัญหานี้ก่อนส่งมอบงานหรือไม่ และถ้ารายงาน มีการซ่อมแก้ไขตรวจสอบซ้ำให้มั่นใจแล้วหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ไซต์อื่นๆ ที่จะส่งมอบงาน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณตรวจสอบงานได้ดี
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็น 1.สำนักการโยธาและโยธาเขต ทำไมไม่ทำงานเชิงรุก กวดขันเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด การตรวจสอบ การรับงาน และเรื่องความปลอดภัย
2.ทำไมผู้ว่าฯ กทม. ไม่เรียกนายทุนผู้รับเหมามาเคลียร์ ซึ่งจุดดังกล่าวเพิ่งคืนพื้นถนนประมาณ 2 สัปดาห์ คำถามคือ ไปตรวจรับงานกันมาได้อย่างไร แล้วจุดอื่นๆ ที่ดีเลย์ล่าช้า ทำไมไม่เร่งรัดงาน และถ้าเร่งรัดงาน จะเกิดปัญหาเช่นนี้อีกหรือไม่
นอกจากนี้ น่าแปลกที่งบประมาณของสำนักการระบายน้ำ 580 ล้านบาท เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรไปแล้วเหลืออยู่แค่ 117 ล้านบาท ซึ่งแต่ละเขตจะมีงบสำหรับบำรุงรักษาท่อระบายน้ำ 5 ล้านบาท เมื่อรวมแล้ว งบประมาณ 300 กว่าล้านบาทเท่านั้น แต่ปรากฏว่างบอุโมงค์ระบายน้ำมีถึง 2,000 กว่าล้านบาทต่อปี และมันก็สร้างไม่เสร็จเสียที
“ไม่ว่าจะทางเท้าหรืออุโมงค์ระบายน้ำ การออกแบบทางวิศวกรรม การควบคุมการก่อสร้างทางวิศวกรรม เราทำให้ดีได้ แต่วันนี้คำถามคือ การก่อสร้างสุจริตหรือไม่ การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสหรือไม่ หรือถูกระบบคอร์รัปชั่นระบบเงินทอนกัดกินอีกแล้วหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม.เกรงใจหรือเกรงกลัวนายทุนผู้รับเหมา กลัวไปเหยียบตาปลาหรือชนตอกับนายทุนผู้รับเหมาอยู่หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า การตรวจรับงานรอบใหม่หลังการซ่อมครั้งนี้ ต้องนำบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศ หรือสภาวิศวกร เพราะประชาชนไม่ไว้ใจแล้ว นอกจากนี้ ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตัวอุโมงค์และถนนเท่านั้น แต่ยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่สองฟากถนนด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ บ้านเรือน มีการเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ ชดเชยแก้ไขให้เขาหรือไม่ และยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยที่สูญเสียรถอุปกรณ์ทำมาหากินไปกับการถล่มลงมาของสะพาน ต้องจ่ายชดเชยให้เขาด้วย
ยืนยันว่าไม่ใช่กทม.ปล่อยให้ประชาชนไปฟ้องผู้รับเหมา แต่กทม.ต้องเป็นตัวแทนประชาชน เรียกร้องให้ผู้รับเหมาเข้ามารับผิดชอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย
สำหรับอุโมงค์จุดอื่นๆ ต้องเรียกร้องให้สำนักการโยธาเข้าไปตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เวลาจะตรวจรับงานต้องคุมเข้ม แต่ที่สำคัญคือการเร่งรัดการก่อสร้างและปรับผู้รับเหมาที่ล่าช้า
ที่มา khaosod