นักวิจัยเชื่อว่าวิวัฒนาการที่เพิ่มขึ้นหลังจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีก่อนทำ ให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความหลากหลายและประสบความรุ่งเรืองเติบโตในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เชื่อเช่นนั้นก็มาจากการวิเคราะห์กระดูกที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท้าและส้นเท้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยพาลีโอซีน (Paleocene) ราว 65 ล้านปีก่อน
ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ นำโดย ดร.ซาราห์ เชลลีย์ เผยว่า จากการเปรียบเทียบกายวิภาคกระดูกเท้าและข้อเท้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยพาลีโอซีน กับสายพันธุ์จากยุคครีเตเชียสที่เป็นยุคก่อนหน้านั้น และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการวัดกระดูกเท้าและข้อเท้าได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตและขนาดตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 40 สายพันธุ์ในสมัยพาลีโอซีน โดยพบว่าพวกมันมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและมีโครงสร้างที่แข็งแรง มีกล้ามเนื้อมากกว่าสัตว์ในยุคครีเตเชียส และสัตว์ยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ข้อต่อของสัตว์ยังเคลื่อนที่ได้ดีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเอ็นยึดระหว่างกระดูกและเส้นเอ็นเชื่อมต่อกล้ามเนื้อกับกระดูก ทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้ตั้งสมมติฐานว่าวิวัฒนาการของกระดูกข้อเท้าและเท้าให้มีรูปร่างและขนาดต่างกัน ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปรับตัวและเจริญเติบโตได้หลังจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์.
ภาพ Credit : Sarah Shelley
ที่มา:thairath