เปิดสถิติเด็กไทยจมน้ำวันละ 2 คน สธ.ตั้งเป้าลดเหลือ 2.5 ต่อแสนประชากร ภายในปี’70

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวภายหลังมอบรางวัลการดำเนินงนป้องกันการจมน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ผู้ก่อการดีประจำปี 2564 ว่า เป้าหมาย สธ.จะต้องไม่ให้เกิดปัญหาเด็กไทยจมน้ำ เพราะการจมน้ำป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ หากให้การดูแลใส่ใจเด็ก รวมทั้งสามารถให้ความรู้อบรมในการป้องกันและตระหนักรู้ในการระมัดระวังตนเอง ที่ผ่านมา สธ.ได้ร่วมกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่สร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” โดยการสร้างทักษะให้สามารถเอาตัวรอดได้เป็นเกราะป้องกัน เน้น 3 ประเด็น คือ “พื้นที่เล่น ลอยเป็น ช่วยเหลือได้” ที่ผ่านมาสามารถลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ถึงร้อยละ 56 จากเดิมมีเด็กจมน้ำเสียีวิตปีละ 1,500 คน ในปี 2564 เหลือเพียง 658 คน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละเกือบ 2 คน จึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคน ภายในปี 2570

“ปี 2564 มีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ 6.0 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือ 658 คน ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน” นพ.โอภาส กล่าวและว่า นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้นทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่นๆ

ที่มา matichon