แม่ฮ่องสอน อ่วม ค่าฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ทะลักพรวด สูงเกินค่ามาตรฐาน สูงสุดในภาคเหนือ พบไฟป่าสูง 72 จุด มากสุดภาคเหนือ หมอกควันปกคลุมตัวเมืองหนาทึบ ประชาชนแสบตา ระคายเคืองในลำคอ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศบริเวณ ต.จองคำ อ.เมือง แม่ฮ่องสอน จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 141 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน โดยคุณภาพอากาศของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน มีค่าเกินมาตรฐานต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 มีแนวโน้มจะเกินค่ามาตรฐานต่อไปอีก หากยังไม่ยุติการเผาป่า
ข้อแนะนำด้านสุขภาพ คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หมายถึง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด
นายสุนทร กันทะมาลา นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัติการ สถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีหมอกควันปกคลุมตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ช่วงเช้า ค่าทัศนวิสัยในการมองเห็นทางอากาศ วัดได้ เวลา 07.00 น. วัดได้ 1,800 เมตร เวลา 08.00 น.วัดได้ 1,800 เมตร เวลา 09.00 น.วัดได้ 1,900 เมตร และ เวลา 10.00 – 11.00 น.วัดได้ 2,000 เมตร ค่าดังกล่าว ต่ำและส่งผลกระทบต่อการบิน
ส่วนที่หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 36 จัดกำลังชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ออกลาดตระเวน ในพื้นที่ป่า ด้านหลัง วัดถ้ำพระ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง ได้ตรวจพบกลุ่มควันไฟป่า บนเทือกเขาหลังวัดดังกล่าว แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันและเป็นหน้าผาชุดปฏิบัติการดับไฟป่าฯ จึงได้ทำแนวกันไฟเพื่อจำกัดพื้นที่ไม่ให้ไฟลุกลาม
เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าของ ฉก.ทพ.36 ระบุว่า พื้นที่ที่เกิดไฟป่า ส่วนใหญ่จะเป็นเทือกเขาสูงชันและเป็นหน้าผา ยากต่อการเข้าไปดับไฟป่า จึงทำได้แค่ทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟป่าลามเข้าหาบ้านเรือนราษฎร ซึ่งในจุดนี้ ไฟป่าจึงยังคงเกิดต่อเนื่องและส่งให้มีหมอกควันปกคลุมไปทั่วพื้นที่
ที่มา khaosod.