ศิริกัญญา หวั่นสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมันพุ่ง ซ้ำเติมประชาชน ชี้ 2 มาตรการตรึงราคาเอาไม่อยู่ เหตุรัฐบาลเมินแก้กฎหมายหนี้สาธารณะ ปิดประตูทางรอด
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาค่าครองชีพของประชาชนจะมากขึ้น จากปัญหาสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครนว่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 114.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2554 ยังไม่ต้องพูดถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ย ที่ตบเท้าเรียงแถวขึ้นพร้อมๆ กัน ย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยและค่าครองชีพประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
“แม้รัฐบาลยังคงมีเป้าหมายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และจะอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินไปพร้อมกัน แต่วันนี้ปั๊มต่างๆ ปรับราคาดีเซลขึ้นไปเกิน 30 บาทกันหมดแล้ว แม้จะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่เริ่มไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร และจะเอาเงินมาจากไหน ประชาชนยังเฝ้ารอคำตอบชัดๆ ถึงมาตรการ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า มาตรการที่มีอยู่ตอนนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งติดลบอยู่ 20,000 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน ข่าวว่าจะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มอีกเป็น 4 บาทต่อลิตร ในสถานการณ์ที่กองทุนยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาการเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลเป็นองค์การมหาชน จึงยังไม่ได้รับรองบัญชี ทำให้วงเงินที่ครม. เคยอนุมัติไว้ 30,000 ล้านบาท ยังไม่มีเม็ดเงินจริงๆเข้ากองทุนเลยแม้แต่บาทเดียว
ยังต้องลุ้นกันต่อว่าจะกู้ได้เมื่อไหร่ และมีข้อจำกัดคือเงินที่ใช้อุดหนุนอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากกู้เพิ่มได้จริง 30,000 ล้านบาทก็ไม่เพียงพอ ส่วนครม.ยังมีช่องให้อนุมัติเพิ่มได้อีกเพียง 10,000 ล้านบาท หลังจากนี้หากจะกู้เพิ่ม คงต้องแก้กฎหมายกองทุนน้ำมันที่กำหนดเพดานการกู้ไว้
ส่วนที่สอง คือการลดภาษีสรรพสามิต ก่อนหน้านี้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาท แต่ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงเพียง 2 บาท อีก 1 บาทนำไปโปะกองทุนน้ำมัน คาดว่าทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้รวม 17,100 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน ซึ่งมาตรการจะจบในเดือนพ.ค.นี้ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจต้องยืดมาตรการนี้ออกไปอีก เท่ากับจะมีเลือดไหลออกจากคลังเพิ่มอีก โดยกระทบกับเป้าการจัดเก็บรายได้และงบประมาณในที่สุด
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า มาตรการทั้ง 2 ส่วน ไม่น่าจะเป็นทางออกให้กับรัฐบาล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาทได้ตลอดรอดฝั่ง นับว่าเป็นโจทย์ที่หิน ยิ่งแก้ยิ่งพันหลัก และสะดุดขาตัวเองในที่สุด เริ่มจากการเขียนกฎหมายเรื่องกองทุนน้ำมันใหม่โดย สนช. ที่กลัวผีประชานิยม เคร่งครัดเรื่องการกู้ แต่กลับหละหลวมเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนในยามที่น้ำมันถูก รวมถึงกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะที่สร้างข้อจำกัดในการกู้เงินเพิ่มแม้ในยามที่ประเทศเกิดวิกฤต ก็ได้ถูกหยิบยกมาเสนอให้แก้ไขหลายครั้ง แต่รัฐบาลกลับเมินเฉย ปิดประตูทางรอดทางการคลังของประเทศอย่างในวันนี้
ที่มา khaosod.