ไทกั๋วหลิวเหลียน ที่แปลว่า ทุเรียนไทย ราชาผลไม้ ที่ต่อให้ราคาสูงแค่ไหน สาวกคนรักกรอบ นอก นุ่มใน รวมไปถึงคนที่ชอบนิ่มๆ ก็พร้อมใจควักเงินในกระเป๋าแบบไม่ลังเลเหมาทุเรียนมาทานให้หนำใจ แม้ช่วงปี 63 และ 64 จะมีโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวแบบแชะ ชม ชิม ทุเรียนที่สวนต่างๆ ในจังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรีเงียบเหงาไปบ้าง
แต่ “ทุเรียน” ก็อยู่กับเราไปทุกๆ ที่ เรียกได้ว่าเปิดอินเทอร์เน็ต ไถโซเชียลก็เจอทุเรียนเต็มหน้าฟีดไปหมด ช่วงนี้หลายคนมีคำถามว่า ทำไมทุเรียนไทยถึงมีราคาแพง ขึ้นทุกๆ ปี ในส่วนของปี 64 นั้นทุเรียนแพง เพราะ 80% ของผลผลิตถูกส่งออกไปประเทศจีนเกือบหมด จากเดิมล้ง หรือผู้รับซื้อจะคัดเฉพาะเบอร์สวยๆ เกรด A เอากลับไปจีน โดยเฉพาะ ไทกั๋วจินเจิ่นโทวหลิวเหลียน หรือ ทุเรียนหมอนทอง แต่ปัจจุบันเริ่มหันมาเหมาซื้อเกรดรองๆ ลงมา ทำให้ทุเรียนที่จำหน่ายในประเทศไทยมีน้อยลงไปอีก
ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. – มี.ค. พบว่า ไทยยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในจีน โดยไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนมูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 88% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ ฮ่องกง มูลค่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเวียดนาม มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มต้นยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ทำให้ทุเรียนไทยมีศักยภาพทางการแข่งขัน จนปัจจุบันสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอับดับหนึ่งในจีน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการส่งออกในปี 2563 กับปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่จีนเริ่มต้นยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทย การส่งออกมีอัตราการขยายตัวสูงแบบก้าวกระโดดถึง 79,300% โดยในปี 2563 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 1,509 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+78%) เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด
อรมน กล่าวอีกว่า จากการขยายตัวของการส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีน เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ FTA ที่ช่วยขจัดอุปสรรคทางภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า และสร้างความได้เปรียบให้สินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันทุเรียนสดของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 17 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย คือ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย ชิลี และเปรู แต่ยังเหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย 36%
ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่มีการลงนามเมื่อเดือนพ.ย. 63 โดยไทยสามารถผลักดันให้เกาหลีใต้ลดภาษีทุเรียนสดเพิ่มเติมให้ไทย โดยจะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ
ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากจะทำให้ความต้องการผลไม้สดเพิ่มขึ้นแล้ว คาดว่า ตลาดผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยว อาทิ ผลไม้ทอด และผลไม้อบแห้ง จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มรูปแบบสินค้าในการส่งออก
นอกจากทุเรียนสดแล้วอาจจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูปอื่นๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิตสม่ำเสมอ โดยพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ มีใบรับรองสุขอนามัยพืช และระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากตลาดในหลายประเทศเข้มงวดและผู้บริโภคก็นิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น
ไทยไม่ใช่ผู้ผลิตทุเรียนมากที่สุดในโลก แต่นัมเบอร์วันเรื่องการส่งออก
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาสถาบันทุเรียนไทย วิเคราะห์ อนาคตทุเรียนไทยว่า จริงๆ แล้วไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตทุเรียนมากที่สุดในโลก หากย้อนกลับไปดูตัวเลขช่วง 10 ปี ระหว่าง 2554-2563 จะพบว่า อินโดนีเซียครองแชมป์การผลิตทุเรียนมากที่สุดของโลก ตามด้วยไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ทุเรียนอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ส่งออกน้อย เพราะมีข้อจำกัดด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออก ซึ่งคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าไทยแซงหน้าอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลก คาดว่าปี 2568 จะนำเข้า 938,882 ตัน เพิ่มขึ้น 95% จากปี 2563 ขณะที่ผู้นำเข้ารายใหม่ที่น่าจับตามอง คือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แม้ปริมาณยังไม่มากนัก แต่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 53% และ 35% ตามลำดับในปี 2568
เลี่ยวหลังแลหน้าส่องราคา “ทุเรียนไทย” มีแต่ขึ้นกับขึ้น
รศ.ดร.อัทธ์ บอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในไทย โดยปี 63 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 5 เท่าเทียบกับปี 2554 เนื่องจากมีการปลูกทุเรียนแทนพืชอื่นๆ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในปี 2554-2559 ผลผลิตทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 พันตันต่อปี และในปี 2560-2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 140,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าจากปี 2554-2559
สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ระบุว่า ปี 64 นี้แนวโน้มราคาทุเรียนจะสูงขึ้น ทำให้คนไทยได้กินทุเรียนแพงกว่าปีที่แล้ว ประเมินราคากิโลกรัมละ 130-140 บาท เนื่องจากกำลังซื้อจากจีนเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด
ขณะที่ ความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศยังมีต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนล้งที่รับซื้อทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประกอบกับปีนี้ผลผลิตทุเรียนเสียหายเยอะเนื่องจากมีพายุฝนนอกฤดูกาล ทำให้ทุเรียนอ่อนพลัดหล่นจากต้นเสียหาย จนไม่พอต่อความต้องการ
แม้ปี 64 ผลผลิตทุเรียนจะมีถึง 1.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.44% จากปี 63 เนื่องจากมีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนแทนพืชชนิดอื่น อาทิ ลองกอง เงาะ และยางพารา หลังราคาทุเรียนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แต่ผลผลิตยังไม่พอต่อความต้องการ ทำให้ราคาทุเรียนปีนี้จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.23% มีราคากิโลกรัมละ 100-140 บาท หรือเฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 120 บาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน เมื่อเทียบกับปี 58 ที่ราคาเพียงกิโลกรัมละ 50 บาท
เมื่อสำรวจแผงทุเรียนในตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดและรูปทรงของลูกทุเรียนนั้น จะมีราคาดังนี้ ทุเรียนหมอนทอง เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 85-155 บาท, ทุเรียนก้านยาว เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 140-150 บาท, ทุเรียนชะนีไข่ เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 85-120 บาท, ทุเรียนกระดุม เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 100 บาท, ทุเรียนนกกระจิบ เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 120-150 บาท ซึ่งราคาหน้าสวนจะปรับลดลงเล็กน้อย
ย้อนกลับมาที่ รศ.ดร.อัทธ์ ที่คาดการณ์ ราคาทุเรียนไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2564-2568 โดยใช้ราคากลาง ณ ตลาดเจียงนาน จะพบว่า ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวนเฉลี่ยในปี 2564-2568 จะอยู่ที่ประมาณ 126 บาทต่อกิโลกรัม โดยสมมติฐานที่ว่าจีนนำเข้าทุเรียนไทยน้อยกว่า 10% แต่หากนำเข้ามากกว่า 10-15% ราคาทุเรียนหมอนทองจะอยู่ที่ประมาณ 243 บาทต่อกิโลกรัม และหากนำเข้ามากกว่า 15% ราคาทุเรียนหมอนทองจะอยู่ที่ประมาณ 290 บาทต่อกิโลกรัม
5 โอกาส และ 9 ความเสี่ยงที่ “ทุเรียนไทย” ต้องเจอ
รศ.ดร.อัทธ์ ทิ้งท้ายว่า จริงแล้วๆ ทุเรียนไทยยังมีโอกาสส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมณฑลชั้นในของจีน เช่น ฉงชิ่ง, เหอเป่ย, เหอหนาน, หนิงเซียะ และแม้จะทำตลาดได้ดีในจีน แต่ก็ควรหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ด้วย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง อินเดีย ที่เริ่มบริโภคทุเรียนมากขึ้น โดยมี 5 โอกาส และ 9 ความเสี่ยงที่เราต้องแก้ไข ดังนี้
โอกาส
1. มีโอกาสในมณฑลชั้นในของจีน
2. มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
3. โอกาสทุเรียนเฉพาะถิ่น และทุเรียนอัตลักษณ์ท้องถิ่น จะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ทุเรียน GI
4. มีโอกาสพัฒนาคุณภาพ ตาม GMP และ GAP
5. โอกาสในตลาดใหม่ เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอินเดีย
ความเสี่ยง
1. จีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศอื่นๆ
2. ไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ
3. ทุเรียนอ่อน และเครื่องมือในการตรวจ
4. จีนตรวจเข้มมากขึ้น
5. จีนมีการปลูกทุเรียน และพัฒนาสายพันธุ์
6. ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสด
7. ขาดแพ็กเกจจิ้งในการยืดอายุทุเรียนสด
8. การถูกสวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน
9. ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง
ที่มา:thairath