พีทีที สเตชั่น และบางจาก ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มน้ำมันเบนซินและ แก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้นอีก 60 สตางค์ต่อลิตร ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565
ทำให้ราคาขายปลีกเบนซินอยู่ที่ 45.16 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 37.75 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 37.48 บาทต่อลิตร อี 20 อยู่ที่ 36.64 บาทต่อลิตร และ อี 85 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร
ส่วนกลุ่มน้ำมันดีเซลทุกชนิดคงเดิม คือ ดีเซล บี 7 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล บี 10 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล บี 20 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลพรีเมียม บี 7 อยู่ที่ 35.96 บาทต่อลิตร
ราคากลุ่มนี้เป็นผลมาจากการตรึงราคาและลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แต่ก็จ่อลิตรละ 30 บาทแล้วอยู่ดี
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกก็มีความผันผวน แม้องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ จะปล่อยน้ำมันสำรองออกสู่ตลาดเพื่อลดความกังวลและติดขัดของห่วงโซ่อุปทานน้ำมัน
แต่ราคาก็ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้บางช่วงจะปรับลดลงสลับกัน แต่ไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเลยในระยะนี้
สำหรับประเทศไทย ในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันดิบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น หากราคาน้ำมันดิบพุ่งทะยานถึง 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตามที่คาดการณ์
นอกจากส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอีกแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างมหาศาล ซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้อย่างเป็นลูกระนาดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนนี้มาตรการอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.2565
เดิมทีกระทรวงพลังงานมีแนวทางปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได โดยแบ่งออกเป็นไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม คือ 3 เดือนขึ้นครั้ง
ดังนั้น หากขึ้นราคาครั้งที่ 1 ก็ตกประมาณ 15 บาท อยู่ที่ 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขึ้นราคาครั้งที่ 2 ประมาณ 30 บาท อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
ถึงคราวประชาชนภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบจากราคาแก๊สหุงต้มซ้ำ นอกเหนือราคาน้ำมันที่พุ่งทะยาน ถึงเวลานั้น รัฐบาลจะหาทางแก้ไขอย่างไร?
ที่มา khaosod