“เมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา ลงนามแต่งตั้ง 4 ผู้พิพากษา เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปมพาดพิงถึงบุคลากรในศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการรับสินบนคดีภาษีโตโยต้า 11,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า กรณีสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวม 10 คน โดยมี นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งคณะทำงานชุดนั้นมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่สังคมและดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในต่างประเทศ ที่พาดพิงถึงบุคลากรในศาลยุติธรรม ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ เช่น หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น

ล่าสุด วันนี้ (31 พ.ค.) นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า ศาลยุติธรรมจะแสวงหาทุกข้อเท็จจริงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยจะทำทุกทางพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด หากพบว่าคนของศาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับใด แต่หากไม่เป็นความจริงก็จะเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของทุกท่านกลับคืนมา ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้ประชาชนยังคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันศาลยุติธรรมต่อไป

“ระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา หากผู้พิพากษาคนใดมีพฤติการณ์ทุจริต เกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเสมอ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้”

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 1 ใน 3 ที่ถูกพาดพิงถึงกรณีสินบนโตโยต้า โดยถามว่าการตั้งกรรมการชุดนี้จะกระทบถึงเกียรติศักดิ์ของท่านหรือไม่ โดยนายสไลเกษ กล่าวว่า เท่าที่ทราบเป็นการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าเกิดอะไรขึ้น ถามว่าเสื่อมเกียรติตนหรือไม่ที่จะถูกสอบ ตนไม่ห่วงเพราะตนไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยในแง่ของข้อเท็จจริง ดังนั้นเราก็ไม่ต้องกลัวอะไร ขอให้ทำความจริงให้ปรากฏ ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นการสอบข้อเท็จจริงไม่ถึงกับสอบวินัย แต่เวลาตั้งกรรมการสอบอะไรก็ตาม ควรระบุให้ชัดเจนว่ากรรมการชุดนั้นชุดนี้มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง อย่างคณะกรรมการที่มีนายพงษ์เดช เลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นประธาน ก็จะต้องบอกให้ชัดเจนว่ามีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตนทราบมาว่าในส่วนของชุดนายพงษ์เดช ได้ขอข้อเท็จจริงจากทางสหรัฐอเมริกาผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในชั้นที่โจทก์ยื่นขออนุญาตฎีกาขณะนั้นท่านเป็นประธานศาลฎีกา ใช่หรือไม่ นายไสลเกษ กะว่าตอนนั้นตนเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ ซึ่งมีการจ่ายสํานวนเข้าแผนกและในชั้นนั้น ยังไม่มีอะไรที่สะดุดหรือมีอะไรต้องตรวจสอบ ดังนั้นสำนวนจึงไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของตน

ตนขอตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นกระบวนการที่ต้องการดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และขอตั้งข้อสังเกตคือการที่คนได้รับข่าวสารมาโดยไม่ตรวจสอบและไม่มีสติ แล้วกลับไปซ้ำเติมมีการเผยแพร่ข้อมูลทำให้คนอื่นเสียหาย ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และตนก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายในทางอาญา โดยได้มอบอำนาจให้เลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนที่ทำให้ตนเสียหายแล้ว

ที่มา:thairath