ตายทะลุ6ล้านราย – วันที่ 8 มี.ค. เอพีรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลกทะลุ 6 ล้านราย หลังการระบาดเข้าสู่ปีที่ 3 และทั่วโลกทยอยผ่อนปรนมาตรการท่ามกลางความเบื่อหน่ายของประชาชน
ข้อมูลดังกล่าวมาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าแม้บรรดาชาติทั่วโลกทยอยผ่อนปรนมาตรการ และยุติการบังคับสวมหน้ากากอนามัย แต่การระบาดดังกล่าวยังคงไม่มีวี่แววจบสิ้นลงในอนาคตอันใกล้
สถานการณ์บางพื้นที่นั้นอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย อาทิ ชาติหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกที่ความห่างไกลช่วยให้การสกัดกั้นเชื้อได้ผลมานานกว่า 2 ปี บัดนี้กลับพบกับการระบาดหลังผู้คนหันมาเดินทางกันอีกครั้ง รวมถึงชาติที่สกัดกั้นได้ผลดีเกินไปก่อนหน้าอย่างนิวซีแลนด์ที่เพิ่งเปิดประเทศ
ฮ่องกงที่กำลังเผชิญกับความระส่ำระสายจากการระบาดและปริมาณผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จนที่เก็บศพไม่เพียงพอ ต้องระดมตรวจหาผู้ติดเชื้อในประชาชนทุกคนรวม 7.5 ล้านคน โดยทำไปแล้วถึง 3 รอบในเดือนนี้ และยังคงใช้ยุทธศาสตร์ โควิด ซีโร่ แบบจีน
ชาติที่มีปริมาณผู้เสียชีวิตสูง ล่าสุด ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย และชาติกลุ่มยุโรปตะวันออก ที่กำลังเผชิญกับคลื่นผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน ซึ่งมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันน้อย แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่มีศักยภาพด้านสาธารณสุขอันดับหนึ่งของโลกก็มีผู้เสียชีวิตสะสมทะลุ 1 ล้านราย
ศาสตราจารย์ ทิกกี้ พ่าง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ และประธานร่วมแนวร่วมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า กลุ่มผู้ที่เสียชีวิตมากที่สุดเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ยกตัวอย่างกรณีในฮ่องกง ที่ระบบสาธารณสุขมีงานล้นมือ
“โรคโควิด-19 ตอนนี้ คือ โรคร้ายแรงสำหรับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะคนป่วยหนัก และคนที่เสียชีวิตนั้นมาจากกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง” ศ.พ่าง ระบุ
รายงานระบุว่า โรคโควิด-19 ใช้เวลาเพียง 7 เดือน หลังการระบาดใหญ่ต้นปี 2563 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปถึง 1 ล้านราย และอีกล้านรายในเวลา 4 เดือนถัดมา มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านรายทุกๆ 3 เดือนกระทั่งยอดสะสมทะลุ 5 ล้านราย เมื่อเดือนต.ค. 2564
กระทั่งล่าสุดมียอดสะสมทะลุ 6 ล้านรายแล้ว มากยิ่งกว่าปริมาณประชากรของกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีรวมกัน หรือเท่ากับผู้อยู่อาศัยทั้งหมดในรัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐฯ
ทว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลกนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่มากเช่นกัน ทั้งจากการนับผู้เสียชีวิตได้ไม่ครบเนื่องมาจากระบบสาธารณสุขในบางพื้นที่อยู่ในภาวะงานล้นมือ ปนเปกับการนับผู้เสียชีวิตเกินจริงจากกลุ่มที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน หรือเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลเพราะเต็ม
นายเอดัวร์ แมทธิว ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล Our World in Data กล่าวว่า หากศึกษาลึกลงไปในข้อมูลแล้วจะพบว่าปริมาณผู้เสียชีวิตที่รายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 4 เท่า สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญของสื่อระดับโลกอย่าง ดิ อิโคโนมิสต์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ประมาณ 14.1 ถึง 23.8 ล้านราย
“ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วนั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตจริงจากโควิด สาเหตุหลักมาจากการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ไม่เพียงพอ นำไปสู่ความท้าทายของการหาสาเหตุการเสียชีวิตที่เบี่ยงเบนจากค่าความจริง”
ติดเชื้อสะสม 445 ล้านคน หวั่นนิวซีแลนด์-ชาติหมู่เกาะเพิ่งเริ่มระบาด
ด้านปริมาณผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 445 ล้านคน และอัตราการติดเชื้อต่อสัปดาห์ในหลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังลดลง ยกเว้น ซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ขณะที่การระบาดตามชาติหมู่เกาะนั้นแม้ปริมาณอาจแลดูเล็กน้อยแต่มีความรุนแรง เนื่องจากมีประชากรน้อย ทำให้สัดส่วนผู้ป่วยสูง และระบบสาธารณสุขของชาติเหล่านี้มีความเปราะบางสูง
นางเคธี กรีนวู้ด ผู้อำนวยการสำนักงานกาชาดภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวว่า ข้อมูลที่ทราบล่าสุดบ่งชี้ว่าชาติหมู่เกาะจะต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ไปตลอดปีนี้ และปีหน้าเป็นอย่างน้อย อาทิ ตองกา และโซโลมอน รวมถึงนิวซีแลนด์ที่เพิ่งเปลี่ยนทิศทางนโยบาย
ช่องว่างระหว่างผู้ได้และไม่ได้รับวัคซีนยังดำเนินต่อไป
ข้อมูลจากศูนย์ Our World in Data ระบุถึงสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนในกลุ่มชาติรายได้น้อย ว่ามีเพียงร้อยละ 6.95 เปรียบเทียบกับสัดส่วนในชาติร่ำรวยที่มีประชากรได้รับวัคซีนแล้วร้อยละ 73
แม้จะมีข่าวดีอยู่บ้างตรงที่ทวีปแอฟริกามีอัตราการฉีดวัคซีนแซงหน้าทวีปยุโรปไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่า หากวัดสัดส่วนประชากรแล้วจะพบว่ามีประชากรในทวีปแอฟริกาเพิ่งได้วัคซีนสองเข็มไปเพียงร้อยละ 12.5
ทวีปแอฟริกายังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนวัคซีน และวัคซีนที่ส่งมาล่าช้าทำให้วัคซีนจำนวนมากหมดอายุและต้องถูกนำไปทำลายทิ้งทันทีหลังได้รับ
อีกพื้นที่ที่น่ากังวลที่สุดนั้นเป็นยุโรปตะวันออกที่กำลังมีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และเผชิญกับภาวะสงครามทำให้มีผู้ลี้ภัยกว่า 1 ล้านคนแล้วไหลทะลักเข้ามาในชาติทางตะวันตกของยูเครน แม้เจ้าหน้าที่จะมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันให้ฟรี แต่ไม่สามารถตรวจคัดกรองได้หมด
สถานการณ์ที่เม็กซิโก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 แสนราย แต่ยอดจริงคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 5 แสนราย แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นหลังพบยอดผู้ติดเชื้อลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว
เช่นเดียวกันกับที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเคยสร้างความตกตะลึงให้ประชาคมโลกด้วยภาพณาปนกิจศพผู้เสียชีวิตกลางแจ้งหลังเตาเผาศพไม่เพียงพอ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 แสนราย แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ตัวเลขจริงอาจหลายล้านราย แต่ล่าสุด อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง
ส่วนที่ประเทศอังกฤษ ชาติที่ยกเลิกมาตรการสกัดกั้นการระบาดทั้งหมดแล้วหลังเผชิญกับช่วงสูงสุดของการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อเดือนธ.ค. 2564 มีผู้เสียชีวิตราว 250,000 ราย ปัจจุบัน ยังมีปริมาณผู้ติดเชื้อสูงแต่ลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับผู้เสียชีวิต
ที่มา khaosod