โฆษกรัฐบาล ขอคนไทย อย่าเพิ่งกังวล โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ระบุไม่พบสัญญาณความสามารถในการแพร่เชื้อ ย้ำฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่สำคัญที่สุด
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในช่วงการปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือยุติการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงลดลง ผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตมีสัดส่วนลดลง และมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 125 ล้านเข็ม รวมถึงระบบรักษาพยาบาลของไทย มีสมรรถนะที่ดีและเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ทั้งนี้ นายกฯยังรับรายงานการเพิ่มระบบการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัว หรือ เจอ แจก จบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าสู่ระบบการรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ได้ผลดีน่าพอใจ ประชาชนได้รับความสะดวก เข้าถึงบริการครอบคลุมมากขึ้น โดยประชาชนที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก สามารถเข้าไปรับบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจของโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์การรักษาอยู่ได้ และจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามประเมินอาการในช่วง 48 ชั่วโมงแรก หากมีอาการรุนแรงขึ้นก็อาจพิจารณาให้เข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลได้
นายธนกร กล่าวว่า ขอคนไทยอย่ากังวล การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แยกย่อยเป็นหลายๆ สายพันธุ์ย่อยนั้น ถึงแม้จะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่พบสัญญาณเรื่องของความสามารถในการแพร่เชื้อ ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงยังเป็นวิธีป้องกันที่สำคัญ เพื่อลดการติดเชื้อและลดอัตราความรุนแรงของโรค
ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารโควิด-19 จากศบค.และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนและตื่นตระหนก
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 15 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 19,742 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 19,690 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 52 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 70 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 221,436 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 24,125 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 1,003,262 ราย ผู้หายป่วยสะสม 812,919 ราย
ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 – 13 มี.ค. 2565 รวม 126,176,878 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 54,419,126 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 49,977,239 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม 19,907,958 โดส และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 สะสม 1,872,555 โดส
ที่มา khaosod