บิ๊กตู่ แจงยิบ 5 มาตรการช่วยชาวบ้าน บัตรคนจน-ร้านค้าคนละครึ่งเตรียมเฮ รัฐเร่งช่วยเหลือ ย้ำตรึงราคาดีเซลให้นานที่สุด วอนผู้ประกอบการหั่นกำไรช่วงภาวะวิกฤต

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 16 มี.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ในการหารือข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน และภาวะราคาพลังงานสูง ทำให้อย่างอื่นตามขึ้นไปทั้งหมด ขณะนี้มีหลายอย่างด้วยกัน ในเรื่องน้ำมัน เราพยายามจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรตรงนี้ไปก่อน ซึ่งราคาจริงสูงกว่านี้มาก ที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ในปัจจุบัน ต้องหาเงินจากตรงอื่นมาเติมในส่วนนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลจะพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันและต้องกำหนดมาตรการต่อไป ช่วงนี้ถ้าเราทำได้ไปจนถึงที่สุดแล้วของงบประมาณที่มีอยู่ อาจต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมขึ้นมา ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต

นายกฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จะต้องพิจารณาลดรายจ่ายของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งให้กองทุนประกันสังคมไปดำเนินการ รวมถึงการช่วยเหลือการขาดแรงงานก็จะพิจารณา ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม

ด้านการเกษตร มีหลายเรื่องทั้งอาหารสัตว์ ปุ๋ย วันนี้ตนสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาความช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เพราะปัจจุบันปุ๋ยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ หลายประเทศเขาก็ต้องเก็บไว้เช่นกัน ไม่อยากส่งออก เพราะเขาก็มีผลกระทบ เราจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรือที่เรียกว่า ปุ๋ยสั่งตัด ให้เหมาะสมกับชนิดของพืชแต่ละชนิด ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เราต้องพิจารณาจะช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างไร ขณะนี้มีมาตรการเบื้องต้น อยู่ระหว่างการหารือ คือบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซหุงต้ม แอลพีจี ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มแอลพีจี สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า การช่วยเหลือเรื่องของราคาน้ำมันเบนซินในกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงจะขอความร่วมมือให้ผู้ค้าเอ็นจีวีให้ตรึงราคาในช่วงวิกฤตพลังงานไปก่อน เป็นสิ่งที่รัฐทำได้ในเวลานี้

ฉะนั้น เราต้องติดตามสถานการณ์ วันนี้ราคาน้ำมันแกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่ หลายคนบอกว่าทำไมเมื่อราคาน้ำมันลงแล้ว เราไม่ลดลง อย่าลืมว่าที่ผ่านมามันแพงเกินราคานี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะลงอย่างไรมันเกินลิตรละ 30 บาท มีแค่เฉพาะราคาของดีเซล ทุกอย่างมันขึ้นทั้งหมด ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทย ขอทุกคนเข้าใจและร่วมมือกัน ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ขัดแย้งกันไป วิกฤตการณ์มันก็แก้ไขไม่ได้ ถ้าพวกเราไม่เข้าใจกันหรือร่วมมือกัน

รัฐบาลและนายกฯก็พยายามทำอย่างเต็มที่ หลายอย่างนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน ถ้าเรามุ่งหวังแต่จะใช้งบประมาณมากๆ ทุกอย่างมันก็คือปัญหา เพราะเรามีงบไม่เพียงพอ รัฐบาลเป็นห่วงประชาชน ขอให้เข้าใจตรงนี้ ลองย้อนกลับไปดูที่ผ่านมาเราดูแลกันไปแล้วเท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือความเข้าใจกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการทั้งหมดจะต้องสรุปให้ได้เมื่อไหร่ นายกฯกล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ เขาหารือกันอยู่ ซึ่งรัฐบาลประชุมกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ประชุมอีกครั้ง นำทุกเรื่องเข้ามาพิจารณาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง เมื่อเรียบร้อยจะนำเข้าหารือในครม. เพราะมาตรการต่างๆ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะการอนุมัติสิ่งต่างๆ จะมีเรื่องงบประมาณด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับวิธีการต่างๆ ต้องดูว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรบ้างหรือไม่ ภาคการเกษตรจะต้องดูแลอย่างไร เรื่องอาหารสัตว์ก็สำคัญ เพราะปัจจุบันต้นทุนมีราคาสูง ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด แม้เราจะมีการผลิตอยู่พอสมควร ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ

เมื่อถามว่าราคาน้ำมันดีเซล รัฐบาลจะตรึงได้ในระยะเวลากี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “จะตรึงเท่าที่มีเงินเหลืออยู่ ปัจจุบันมีอยู่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท วันนี้ใช้ไปจนเกือบจะหมดแล้ว ที่ผ่านมาใช้กันทุกวันเพราะราคาที่แท้จริงของดีเซล ควรเป็นลิตรละ 35-37 บาท แต่เราต้องตรึงไว้ที่ 30 บาทนานพอสมควร ราคาน้ำมันรอบบ้านก็ไม่ได้ถูกกว่าเรา เว้นแต่ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันภายในประเทศ”

เมื่อถามว่าสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ รัฐบาลได้กำชับและดูแลอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องกำชับและเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบในการควบคุมราคา แต่ต้องดูว่าเป็นธุรกิจเช่นกัน ถ้าเราคุมราคาไว้ขณะที่ต้นทุนสูง จะให้ขายในราคาต่ำ ผู้ประกอบการก็คงประกอบการไม่ได้ ฉะนั้น ต้องดูที่ความเหมาะสมให้เกิดความเป็นธรรม

ยากขอร้องให้ธุรกิจเอกชนต่างๆ ขอให้ลดราคาลงบ้าง ไม่ใช่ลดจากราคาเดิมก่อนมีสงคราม แต่อยากขอให้ลดในส่วนของกำไรลงมาได้หรือไม่ เพราะรัฐไม่อยากไปควบคุมมากจนทำให้ธุรกิจเดินไม่ได้ สิ่งสำคัญต้นทุนมาจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งไทยมีปัญหาตรงนี้อยู่ จึงต้องสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิตเดินได้ด้วยตัวของเราเอง

ที่มา khaosod