“หมอธีระ” เทียบสถิติ ชี้โควิดในไทย ยังรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย คนเคยป่วยต้องนอน รพ. เจอปัญหา Long Covid มากกว่าคนอาการน้อย
วันที่ 18 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 23.61% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
เปรียบเทียบสถิติรายสัปดาห์ ทั่วโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 25% และเสียชีวิตลดลง 23% หากดูเฉพาะทวีปเอเชีย จะพบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลงถึง 28% และเสียชีวิตลดลง 23% เท่ากับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แต่สำหรับไทยเรานั้น จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 11% (ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียและของทั่วโลก) และจำนวนเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 19%
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นว่า การระบาดของไทยยังคงรุนแรงเมื่อเทียบกับภาพรวมของทวีปเอเชียและของโลก นอกจากนี้ตัวเลขทางการนั้นก็ยังไม่ได้รวมจำนวนที่ตรวจ ATK อีกด้วย ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นสวนกระแสโลกอย่างชัดเจน
นโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่ผ่านมานั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และจำเป็นจะต้องได้รับการทบทวน หากเห็นคุณค่าของชีวิต
อัปเดตเรื่อง Long COVID ล่าสุด Chen C และทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกอย่างเป็นระบบจนถึง 13 มีนาคม 2565 และทำการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID หรือ Post COVID conditions ในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19
ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากลด้านโรคติดเชื้อ Journal of Infectious Diseases เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ทบทวนงานวิจัย 50 ชิ้น และนำ 41 ชิ้นมาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะประสบปัญหา Long COVID สูงถึง 43% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 39%-46%)
ทั้งนี้ คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเกิดปัญหา Long COVID ได้ 54% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 44%-63%) ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลที่พบว่ามีปัญหา Long COVID 34% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้แงต่ 25%-46%)
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างทวีป จะพบว่า ทวีปเอเชียมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ประสบปัญหา Long COVID สูงที่สุดคือ 51% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 37%-65%)
โดยทวีปยุโรปพบประมาณ 44% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 32%-56%) และทวีปอเมริกาเหนือ 31% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 21%-43%)
ดังนั้น จึงสะท้อนให้เราเห็นว่า ปัญหาผลกระทบระยะยาวจาก Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่พบบ่อยกว่าที่คาดการณ์ และจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาว
ติดเชื้อจึงไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่จะมี Long COVID เป็นเส้นทางที่ 3 ซึ่งทางเส้นนี้เป็นทางที่ขรุขระและยาวไกล
โปรดอย่าหลงคำลวง ภาพลวง ว่ามันกระจอก ก็แค่หวัดธรรมดา เอาอยู่ แป๊บเดียวก็หาย แวบเดียวก็ประจำถิ่น เพราะสุดท้ายแล้วคนรับกรรม คือคนที่หลงเชื่อแล้วทำตัวดี๊ด๊า ไม่ป้องกัน ส่วนกลุ่มลวงโลกก็ลอยตัว ไม่สนใจ และไม่รับผิดชอบ
การใช้ชีวิต ทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียนนั้น ทำได้แน่นอน แต่ต้องมีสติ ปรับกระบวนการต่างๆ ให้ปลอดภัย เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง และป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากเสมอ เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะคือปราการด่านสุดท้ายของแต่ละคน
ที่มา thairath