ประธานส.อ.ท.คนใหม่ เล็งถกเงินเฟ้อ กกร. หวั่นทะยาน 8.7% ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% ต่อจีดีพี รับ พ.ค.นี้ ของทยอยปรับราคาขึ้น หลังรัฐเลิกอุ้มดีเซล
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คนใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งถัดไปช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ จะหารือถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น
“เห็นได้จากล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น โดยมองว่าตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปีนี้จะพุ่งแตะระดับ 8.7%”
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส.อ.ท.มองว่าเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ ส.อ.ท.กังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ที่สูงถึง 90% สะท้อนว่ารายรับไม่พอรายจ่าย กดดันกำลังซื้อในประเทศหดตัว
“ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน 6-12 เดือนจะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.นี้ จึงเห็นว่ารัฐควรหามาตรการในการดูแลระยะสั้นก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบเพิ่มขึ้น”
“หนี้บุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เริ่มเป็นหนี้เสียมากขึ้น เพราะผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังระบาดอยู่เป็นอะไรที่น่ากังวลว่าจะเป็นระเบิดลูกใหม่ทางเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐต้องเร่งหามาตรการระยะสั้นดูแลเร่งด่วนในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจต่างๆ ให้ประคองอยู่ได้ก่อน”
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หากรัฐขยับราคาดีเซลขึ้น 5 บาทต่อลิตร คาดว่าจะกระทบค่าขนส่งปรับขึ้นราว 15-20% และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% ซึ่งผู้ผลิตสินค้าน่าจะทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นตามกลไกตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากหลายส่วนยังได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบ เป็นการซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ แต่การปรับขึ้นจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทสินค้าว่าถูกควบคุมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.เห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐควรขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ลดภาษีเป็นเวลา 3 เดือน จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งจะทำรัฐสูญเสียรายได้รวม 1.7 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนเกินไป เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่จะถูกส่งผ่านมาในราคาสินค้าจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสด