เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน นายสาวิตร เจียมจิระพร นายอำเภอไทรโยค พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภุชงค์ ณรงค์อินทร์ ผกก.สภ.ไทรโยค และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่าจะมีขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้รถกระบะเป็นพาหนะในการซุกซ่อนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ด้วยการให้แรงงานซุกซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกที่ใช้สำหรับผสมน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อพืชผลทางการเกษตร
หลังจากได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่จึงออกหาข่าว จนกระทั่งพบรถกระบะต้องสงสัยลักษณะตรงกับที่สายแจ้ง เป็นรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า ตอนเดียว สีขาว หมายเลขทะเบียน ผอ 4122 กรุงเทพมหานคร กำลังขับไปตามถนนสายท่ามะเดื่อ-ลำทราย หมู่ 2 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่จึงไล่ติดตามไป พร้อมส่งสัญญาณให้คนขับหยุดรถ เพื่อขอตรวจค้น แต่คนขับไม่ยอม พร้อมเร่งเครื่องหลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิด สุดท้ายคนขับจึงยอมจอดรถให้ตรวจค้น ทราบชื่อคนขับคือนายประสิทธิ์ กล้าหาญ อายุ 62 ปี ชาว ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
จากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ถึงกับตะลึงเนื่องจากพบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาซ่อนตัวอยู่ภายในถังพลาสติกขนาด 1,000 ลิตร ที่อยู่ท้ายกระบะอัดแน่นกันอยู่ จำนวน 5 คน และถังขนาด 200 ลิตร 2 ถัง อีกถังละ 2 คน โดยมีกระเป๋าสัมภาระปิดทับตัวแรงงานเอาไว้ ก่อนจะนำสแลนบังแดดสีดำมาคลุมทับไว้อีกชั้น เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนั่งมาด้านหน้าคู่กับนายประสิทธิ์อีก 2 คน
นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหาและเป็นผู้นำพาชาวไทย ให้การในเบื้องต้นว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากนายดุษ (นามสมมุติ) เป็นเงินจำนวน 1,500 บาท ขับรถไปรับแรงงานชาวเมียนมาจำนวนดังกล่าวมาจากบ้านทุ่งฉาง เพื่อให้นำไปส่งที่แยกบ้านเก่า ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จากนั้นจะมีผู้มารับแรงงานจำนวนดังกล่าวอีกทอดหนึ่งเพื่อไปทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ยังไปไม่ถึงก็มาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน
เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายประสิทธิ์ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค เพื่อดำเนินคดีในข้อหา “ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พ้นจากการจับกุม”
ส่วนแรงงานชาวเมียมาทั้ง 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ที่มา MATICHON