“เพื่อไทย” แฉยับงบฯลับลวงพราง “ยุทธพงศ์” คุ้ยแหลกกลาโหม-สำนักนายกฯฟาดเงินราชการลับกว่าพันล้าน จับพิรุธหมกเม็ดซุกซ่อนรายกระทรวง กระทั่ง ก.ต่างประเทศกับ ก.แรงงานก็มี ทำขึงขังขวางดะเรือดำน้ำ-เฮลิคอปเตอร์-ยานเกราะ ล้อยาง-เรือยกพลขึ้นบก-เครื่องบินโจมตี จัดหนัก 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน สกัดตีเช็คเปล่าตามอำเภอใจ “ก้าวไกล” ไม่รับ ก.ม.เงินกู้ต่ออายุรัฐบาล “พิจารณ์” ฟุ้งส่ง 6 กมธ.ตัดไม่ยั้งงบฯฟุ่มเฟือย ปชป.เตรียม ส.ส.สแกนเงินกู้ ให้คนไทยแบกหนี้ต้องอยู่รอด “กนก” เตือนอย่าทำผิดซ้ำรอยเงินกู้ 1 ล้านล้าน เบิกจ่ายล่าช้าชกไม่ตรงเป้า ภท.แอ็กท่าปล่อยฟรีสไตล์อภิปรายติติงตามความจริง รบ.โอ่ผลงานจากต้นปีคนว่างงานลดต่อเนื่อง
พรรคเพื่อไทยเดินหน้าตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 อย่างเข้มข้นในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ นอกเหนือจากมุ่งเน้นไปที่งบฯราชการลับของกระทรวงกลาโหมกว่า 500 ล้านบาท แล้วยังพบว่ามีงบฯราชการลับที่ตั้งไว้ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีก 558 ล้านบาท จนเป็นที่น่าสังเกตว่าเฉพาะกระทรวงกลาโหมและสำนักนายกฯได้รับจัดสรรงบฯลับกว่า 1,000 ล้านบาท
พท.เฉ่งหมกเม็ดงบฯลับลายพราง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า กมธ.มีกรอบเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-5 ส.ค.64 มีหน่วยรับงบประมาณต้องมาชี้แจงต่อ กมธ. 732 หน่วย การพิจารณาในวันที่ 7 มิ.ย.จะเริ่มพิจารณาภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและงบประมาณ จากนั้นเริ่มต้นเชิญหน่วยรับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การบริหาร หน่วยงานอิสระมาชี้แจงต่อ กมธ.ตามลำดับ ทั้งนี้ สภาฯมีเวลาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จภายใน 105 วัน นับจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาถึงสภาฯ จะครบกำหนด 105 วันในวันที่ 29 ส.ค. การพิจารณาของพรรคเพื่อ-ไทยจะเน้นการปรับลดงบฯที่ไม่มีความจำเป็น จะตรวจสอบงบฯลับแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมได้งบฯลับร่วม 500 ล้านบาท ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดอะไรเลย เช่น กองทัพบกได้งบฯลับ 290 ล้านบาท กองทัพเรือ 62 ล้านบาท กองทัพอากาศ 30 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 32 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 55 ล้านบาท
ปูดกระจายซ่อนสารพัดหน่วยงาน
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า นอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังมีงบฯลับซ่อนในอีกหลายหน่วยงานจำนวนมาก อาทิ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 558 ล้านบาท เป็นงบฯสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท เอาไปทำอะไร ใช้ทำไอโอหรือตรวจสอบฝ่ายค้านหรือไม่ ขณะที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีงบฯลับ 232 ล้านบาท สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 50 ล้านบาท แม้กระทั่งกระทรวงต่างประเทศก็มีงบฯลับ 8 ล้านบาท หรือกระทรวงแรงงาน อย่างกรมการจัดหางาน ยังมีงบฯลับ 5 ล้านบาท รวมแล้ว กระทรวงกลาโหมกับสำนักนายกรัฐมนตรีมีงบฯลับ 1,000 ล้านบาท พรรคเพื่อไทยจะตรวจสอบงบฯลับเหล่านี้
เล็งชะลอเรือดำน้ำ-ฮ.-รถยานเกราะฯ
นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า การตรวจสอบจะรวมถึงงบฯจัดซื้ออาวุธของกองทัพด้วย เช่น กองทัพบก มีโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง ระยะที่ 2 ปี 63-65 วงเงิน 4,515 ล้านบาท โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตี ระยะที่ 1 ปี 64-66 วงเงิน 4,226 ล้านบาท กองทัพเรือ มีโครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการเรือดำน้ำ 1 ลำ ปี 62-65 วงเงิน 6,185 ล้านบาท โครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ปี 63-69 วงเงิน 22,500 ล้านบาท ที่ผลักดันเข้ามาใหม่ หลังระงับไปตอนงบฯรายจ่ายปี 2564 หรือกองทัพอากาศ มีโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีขนาดเบา ปี 64-66 วงเงิน 4,500 ล้านบาท และโครงการพัฒนาปฏิบัติการในห้วงอวกาศ ระยะที่ 1 ปี 64-67 วงเงิน 1,470 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ชะลอไว้ก่อนได้
จัด 35 ขุนพลขยี้ พ.ร.ก.เงินกู้ตีเช็คเปล่า
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในวันที่ 9 มิ.ย.ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย แค่ระบุกว้างๆว่า ใช้ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท เยียวยาประชาชน 3 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1.7 แสนล้านบาท เป็นการจัดงบฯไม่เหมาะสม ปีที่แล้วรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท บอกจะเอาไปใช้ด้านสาธารณสุขแก้โควิดระลอกแรก 4.5 หมื่นล้านบาท แต่เหตุใดวัคซีนจึงไม่เพียงพอ แสดงว่ากู้เงินไปบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ แล้วยังต้องไปขอบริจาควัคซีนจากจีนและสหรัฐฯ การกู้เงิน 5 แสนล้านบาทครั้งนี้ ก็ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า กู้มาก่อน เหมือนตีเช็คเปล่าแล้วจะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ โดยที่สภาฯ ตรวจสอบไม่ได้ พรรคเพื่อไทยเตรียม ส.ส.35 คน ชำแหละ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับนี้ ถ้าเป็นการตีเช็คเปล่าจะไม่ให้ความเห็นชอบ
อัดนายกฯเก่งแต่กู้ถนัดสร้างหนี้
น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี-PMOC โพสต์แคมเปญ “ลุงตู่ 7 ปี แล้วไง” ตอบโต้กระแสสังคมที่มอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ไม่มีผลงาน ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 7 ปี ทำได้แค่เท่าที่โพสต์ควรลาออกไป ประชาชนรู้ความจริงว่า 7 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ คนไทยได้อะไรบ้าง ทั้งเรือดำน้ำ เรือเหาะ รถถังและหนี้มหาศาล ทั้งหนี้การกู้เพื่อชดเชยงบขาดดุลรวม 3.9 ล้านล้านบาท หนี้การออกกฎหมายพิเศษ 1.5 ล้านล้านบาท การกู้มากขึ้นทำให้จีดีพีต่ำลงทุกปีนับตั้งแต่รัฐประหาร จีดีพีบางปีโตแค่ 1%
ตอก “ลุงตู่” อยู่ 7 ปีทำคนจนมากที่สุด
“ธนาคารโลกคาดว่าคนจนของไทยปี 2563 จะเพิ่มขึ้น 8.8% อยู่ที่ 5.2 ล้านคน จากก่อนหน้าที่คนจนอยู่ที่ 3.7 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวไม่รวมการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 อาจทำให้คนตกงานเกือบ 10 ล้านคน ส่งผลให้คนไทยกลายเป็นคนจนโดยจำใจ ที่ผ่านมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์มาบริหารประเทศปี 2558-2561 ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคนจนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งอยู่ คนไทยยิ่งจน กู้เยอะ กู้เก่ง แต่เงินในกระเป๋าคนไทยไม่เพิ่มขึ้น คำถาม ที่ว่า “ลุงตู่ 7 ปี แล้วไง” จะตอบให้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯที่สร้างหนี้มากสุด คนจนมากสุด คนอยากย้ายประเทศมากที่สุด จัดการวัคซีนได้มั่วที่สุด และสุดท้ายหลอกตัวเองมากที่สุด” น.ส.อรุณีระบุ
โวยทำงุบงิบกระจายวัคซีนโควิด
นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดขาดแคลนวัคซีน แทบจะทำสงครามวัคซีน มีการปรับเปลี่ยนการกระจายวัคซีน โดยทำเป็นความลับ ไม่รู้กระจายไปที่ใดบ้าง ปลายปีที่แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เคยเสนอจัดซื้อวัคซีน โดยใช้งบประมาณตัวเอง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุทำได้ หากมีการแก้ระเบียบ อปท.ให้จัดซื้อวัคซีนได้ แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เบรกท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน กลัวจะเกิดความเหลื่อมล้ำ สงสัยว่าจะเหลื่อมล้ำตรงไหน ขณะที่เรื่องเงินเยียวยา ที่ผ่านมา ผวจ.แต่ละจังหวัดสั่งปิดสถานที่ต่างๆมากมาย เช่น สถานบันเทิง สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ฟิตเนส แต่ให้เงินเยียวยาแค่ 1,000 บาท 2 เดือน ปิดไปแล้ว 48 วัน ได้เงินเยียวยาแค่เท่านี้ เฉลี่ยวันละกว่า 40 บาท ถือว่าแย่มาก ให้อำนาจ ผวจ.สั่งปิดสถานที่ แต่ไม่ให้อำนาจเยียวยาประชาชน
“ก้าวไกล” ไม่รับ พ.ร.ก.เงินกู้ต่ออายุ รบ.
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า มติพรรคก้าวไกลไม่ให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพราะไม่ต้องการตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เชื่อว่าการพิจารณา พ.ร.ก. ฉบับนี้จะเป็นการต่ออายุให้รัฐบาล และในปีงบประมาณต่อไปรัฐบาลจะขอกู้เงินอีก จะเป็นภาระของประชาชน โดยพรรคก้าวไกลเตรียม ส.ส.เพื่ออภิปราย พ.ร.ก.ฉบับนี้รวม 11 คน
ส่ง 6 กมธ.ตัดไม่ยั้งงบฯไม่จำเป็น
นายพิจารณ์กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 ที่ผ่านวาระที่ 1 ผิดหวังกับการลงมติของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เพราะเนื้อหาที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอภิปราย ได้แสดงความผิดหวังต่อการจัดสรรงบประมาณ ผลออกมากลับตรงกันข้าม แต่ไม่เหนือความคาดหมาย สำหรับการพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 มีคนของพรรคเป็น กมธ. 6 คน และยังมี ส.ส. สมาชิกพรรคที่ร่วมทำงานเต็มที่เพื่อปกป้องสิทธิและสวัสดิการประชาชนที่ถูกตัดออกไป เบื้องต้นจะตัดงบฯเป็นรายโครงการที่ไม่ตอบโจทย์ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับสวัสดิการประชาชน เราให้ความสำคัญจะพิจารณางบฯที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรืองบฯไม่สอดคล้องสถานการณ์บ้านเมือง และคำนึงถึงประสิทธิภาพ และผลในการใช้งบฯเพื่อรีดไขมันออก โดยคำนึงถึงผลบรรลุเป้าหมายหรือไม่ รวมถึงราคาการจัดซื้อจัดจ้างที่สูงเกินจริงกว่าราคาตลาด และความสามารถในงานเบิกจ่ายงบประมาณที่พบว่าแม้ได้งบฯไปแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์เพื่อบรรเทาสาธารณภัยที่วางเงินดาวน์แล้วแต่ยังไม่สามารถจัดซื้อได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสเปก เป็นต้น
ปชป. เรียกถก ส.ส.สแกน พ.ร.ก.กู้เงิน
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ว่า ได้เชิญ ส.ส.พรรคร่วมประชุมในวันที่ 8 มิ.ย. เวลา 13.30 น. เตรียมความพร้อมการพิจารณา พ.ร.ก. ดังกล่าวที่จะประชุมสภาฯพิจารณาในวันที่ 9 มิ.ย. พบว่า พ.ร.ก.กู้เงินนี้จะนำเงินที่กู้ไปใช้จ่ายใน 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.ด้านสาธารณสุข 2.การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ 3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งการออก พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ต่อเนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากการดำเนินการที่ผ่านมา มีทั้งที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะที่หลายโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ฝาก 4 ข้อคิดใช้เงินสู้โควิดให้ตรงเป้า
นายองอาจกล่าวอีกว่า ดังนั้นการใช้เงินกู้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.ก. นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและ ศบค. ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ต้องนำการใช้เงินกู้ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนว่าอะไรบ้างที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น และเร่งปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 2. การดำเนินการใดๆ จากการใช้เงินกู้ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายก็อาจทำต่อไป แต่ควรมีมาตรการใหม่ๆออกมาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ 3.การใช้เงินกู้ครั้งนี้ ไม่ควรมุ่งเน้นแก้ปัญหาระยะสั้น หรือปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงอย่างเดียว ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะยาวด้วย เพราะโรคโควิด-19 อาจจะอยู่กับเรายาวพอสมควร จึงควรเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้า
ให้แบกหนี้บานคนไทยต้องอยู่รอด
นายองอาจกล่าวอีกว่า 4.เป้าหมายสำคัญของ พ.ร.ก.นี้ ไม่ควรเป็นเพียงการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ควรสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมั่นใจว่าภาระหนี้ที่เราต้องแบกรับร่วมกันนี้ จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วยการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การเยียวยาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างนักบริหารมืออาชีพ เชื่อมั่นว่าข้อเสนอนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า แก้ปัญหาได้จริง จึงขอฝากนายกฯและ ศบค.ดำเนินการให้การใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมต่อไป
“กนก” ติงอย่าผิดซ้ำรอยเงินกู้ 1 ลล.
นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะนำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯในวันที่ 9 มิ.ย.ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1. แผนงานแก้ไขปัญหาการระบาดละลอกใหม่ 30,000 ล้าน 2.แผนงานช่วยเหลือเยียวยาหรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ 300,000 ล้าน และ 3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 170,000 ล้าน ไม่ต่างจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา คำถามสำคัญก่อนพิจารณาคือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้างที่ควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน คือการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ล่าช้าใช้ไม่หมด ส่วนที่ใช้ไปไม่ได้แก้ปัญหาตามเป้าหมายที่กำหนด คือป้องกันและแก้ไขการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จัดหาวัคซีนล่าช้า มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ การเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์รับรองผู้ป่วยล่าช้า การพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไม่เกิดผลสำเร็จเพราะโครงการที่นำเสนอไม่ได้ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจัดทำได้ดีกว่าอีก 2 แผนงาน แต่มีปัญหาความรวดเร็วและทั่วถึงประชาชนที่เดือดร้อน
ต้องเบิกจ่ายเร็วทั่วถึงฟื้น ศก.โปร่งใส
นายกนกกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจะแก้ไขเรื่องความรวดเร็วและทั่วถึงของการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน การจัดหาวัคซีนจะรวดเร็วและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหรือไม่ และสุดท้ายคือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะกำหนดแนวทางและเป้าหมายการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สำเร็จผ่านโครงการอะไร ในเรื่องใด แค่ไหน ปัญหาสำคัญของ พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้อยู่ที่ว่าควรหรือไม่ควรกู้ ทุกคนต่างเข้าใจถึงความจำเป็นต้องกู้เพื่อแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ขีดความสามารถทางการบริหารของรัฐบาลจะใช้เงินกู้นี้ให้ตรงเป้า รวดเร็ว โปร่งใสและเห็นผลสำเร็จ มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญเป็นโอกาสอีกครั้งที่รัฐบาลจะแก้ไขข้อผิดพลาดของการบริหารเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โอกาสจะกู้ครั้งที่ 3 คงยากแล้ว เพราะเงินกู้เต็มวงเงิน 60% ของจีดีพีประเทศ ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังแล้ว จึงขอเอาใจช่วยให้รัฐบาลประสบความสำเร็จแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องตามเป้าหมายของ พ.ร.ก.กู้เงินนี้
ศปฉ.ปชป.หาเตียงป่วยโควิด 264 คน
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หลังจากพรรคเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ช่วยประสานผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตกค้าง เพื่อได้ให้เข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว ตั้งแต่เปิด ศปฉ.ปชป.ระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-5 มิ.ย. รวม 42 วัน ได้รับเรื่องขอให้ช่วยประสานงานหาที่รักษาตัวไป 264 ราย ช่วยเหลือได้ 264 ราย ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 143 ราย (ในจำนวนนี้มีเสียชีวิต 1 ราย) รักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม 46 ราย และเข้าพักที่ฮอสพิเทล 75 ราย รวมถึงประสานรถรับส่งตรวจเชิงรุกคนไทยและต่างด้าวอีก 100 ราย
ภท.ปล่อยฟรีสไตล์อภิปรายเงินกู้
นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทยได้เรียกประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 8 มิ.ย.หารือและวางแนวทางการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยพรรคไม่ได้กำหนดหรือขีดเส้นการอภิปรายของ ส.ส.ว่าต้องอภิปรายอย่างไร แต่การอภิปรายจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงว่ามีการใช้จ่ายเงินกู้ตามความจำเป็น สมเหตุสมผลหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ การใช้จ่ายเงินกู้รอบนี้ควรใช้งบฯส่วนใหญ่แก้ไขปัญหาโควิด-19 มากกว่าการแจกเงินให้ประชาชนเป็นรายหัว เนื่องจากมีการแจกมาแล้วหลายรอบ ขณะที่งบฯการดูแลป้องกันโควิด-19 ในระดับพื้นที่ยังลงไปไม่ถึง
รบ.ช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีต่อคิวร้านค้า
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ยอดช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ณ วันที่ 31 พ.ค. อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839 ล้านบาท และวันที่ 7 มิ.ย.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ เตรียมเปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” โดยประสานสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคารที่มีอยู่กว่าแสนแห่งทั่วประเทศ เป็นกรณีพิเศษ เช่นดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้ร้านอาหารเข้าถึงสภาพคล่อง ต่อลมหายใจให้ดำเนินธุรกิจต่อไปโดยไม่ต้องปลดลูกจ้าง
ตีปี๊บคนว่างงานลดลงต่อเนื่อง
น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานแรงงานในระบบ ข้อมูลกระทรวงแรงงานแนวโน้มที่ดีขึ้น ตัวเลขผู้ประกันตนที่ว่างงานในแต่ละเดือนลดลงต่อเนื่องนับจากต้นปี 64 เดือน ม.ค. มี 95,213 ราย เดือน เม.ย.49,277 ราย และวันที่ 19 พ.ค. 12,451 ราย ขณะที่มีผู้ประกันตนรายใหม่เพิ่มขึ้นเดือน ม.ค. 28,174 ราย เม.ย. 38,025 รายและวันที่ 19 พ.ค. 35,984 ราย อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกันตนกลับเข้าสู่การจ้างงาน ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ รวม 2.39 แสนราย ใกล้เคียงตัวเลขรวมของปีที่แล้วทั้งปีอยู่ที่ 2.49 แสนรายแม้จะเห็นสัญญาณการจ้างงานแรงงานในระบบดีขึ้น นายกฯเป็นห่วงต่อกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและขนาดไมโคร ที่มีการจ้างงานนอกระบบอยู่มาก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้ และร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคาร เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น จะได้ยังคงธุรกิจและรักษาการจ้างงาน
“กล้า” ร้อง ส.ส.กั๊กวัคซีนแลกคะแนน
ทพ.กันตพงศ์ ดีชัยยะ คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตรวจสอบปัญหาการจัดการวัคซีนไม่เป็นธรรม ได้รับการร้องเรียนจากคนในพื้นที่เขตบางซื่อ-ดุสิตว่า มีนักการเมืองพรรคใหญ่เปิดลงทะเบียนวัคซีนเองแจ้งแก่ผู้นำชุมชนว่า ได้โควตาพิเศษฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่สถานีกลางบางซื่อ ชุมชนละ 40 คน ไม่จำกัดอายุ แม้ลงทะเบียนหมอพร้อมหรือช่องทางอื่นแล้วไม่ต้องรอคิว มอบให้ผู้นำชุมชนเก็บสำเนาบัตรประชาชนในพื้นที่มาลงทะเบียนสงสัยว่าจงใจใช้อำนาจทางการเมืองลัดคิวฉีดวัคซีนหวังผลสร้างคะแนนนิยมหรือไม่ การจัดลำดับสำคัญตามกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ลงทะเบียนล่วงหน้ายังมีความสำคัญหรือไม่อย่างไร การฉีดวัคซีนทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้กระจายได้มากที่สุด แต่อย่าเอาชีวิตคนมาเล่นกับการเมือง ให้ ส.ส.จัดคิวแจกวัคซีนแซงคิวคนอื่น จะทำให้วัคซีนไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม อย่าใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาสร้างคะแนนนิยมแบบผิดๆ นายกฯลงพื้นที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อแล้วขอให้ตรวจสอบด้วย รัฐบาลดีเดย์ฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย.แต่หลายโรงพยาบาลต้องแจ้งเลื่อนฉีดวัคซีนคิวตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.เป็นต้นไป ไม่ควรใช้อำนาจกั๊กวัคซีนหรือลัดคิวจนวัคซีนขาดแคลน
ที่มา:thairath