- จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่กว่า 1 ใน 3 จะเกษียณอายุในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งทางการจีนระบุว่า กำลังจะมีนโยบายขยายเวลาเกษียณอายุออกไป เพื่อลดปัญหาขาดแคลนในตลาดแรงงาน
- นโยบายมีลูกคนเดียว (one-child policy) เริ่มใช้เมื่อปี 2523 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อนที่จะเลิกบังคับใช้ในปี 2559 แล้วเปลี่ยนมาเป็นนโยบายมีลูก 2 คน
- การประกาศใช้นโยบายมีลูก 3 คน ก็เพื่อตอบสนองต่อตัวเลขจำนวนประชากรในปี 2563 ที่ลดลงอย่างมาก และลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคปี 1950 เป็นต้นมา และเมื่อปีที่แล้วหญิงชาวจีนมีการคลอดบุตรเพียง 12 ล้านคน
จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่ออกนโยบายกำหนดว่าคนในประเทศจะมีลูกได้ไม่เกินครอบครัวละกี่คน โดยตัดสินใจอ้างอิงจากสถิติจำนวนประชากรและภาวะเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย ล่าสุดได้ประกาศอนุญาตให้แต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้มากถึง 3 คน หลังจากยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2015 และให้มีลูกได้ 2 คนมาก่อนหน้านี้
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากผลการสำรวจสำมะโนประชากรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า การเติบโตของจำนวนประชากรจีนชะลอตัวมากที่สุดในรอบหลายสิบปี กดดันให้รัฐบาลปักกิ่งต้องเพิ่มมาตรการหลายด้าน เพื่อกระตุ้นให้คู่สมรสมีบุตรมากขึ้น เพื่อแก้ไขแนวโน้มประชากรที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง
นโยบายมีลูก 3 คน คืออะไร
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 ที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของจีน ซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธาน ได้ประกาศว่า จะอนุญาตให้คู่สมรสแต่ละครอบครัวสามารถวางแผนครอบครัวมีบุตรได้ถึง 3 คน ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนการมีลูก 3 คนตามออกมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนเคยผ่อนคลายนโยบายมีลูกคนเดียว ให้มี 2 คนได้ โดยระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรในประเทศ
สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรจีน (The National Bureau of Statistics-NBS) เปิดเผยสถิติที่ระบุว่า เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วจำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,412 ล้านคน จากตัวเลข 1,400 ล้านคนในปีก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลา 1 ปี คุณแม่ชาวจีนมีการคลอดลูกกันเพียง 12 ล้านคนเท่านั้น ลดลงไปอีกจากจำนวน 14.65 ล้านคน ในปี 2562 คิดเป็นการปรับลดลง 18% และเป็นตัวเลขที่ลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน หากคิดเป็นอัตราเฉลี่ยเท่ากับผู้หญิง 1 คน จะมีลูกอยู่ที่ 1.3 คน ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.1 คนที่จีนคำนวณไว้ว่าต้องอยู่ที่ตัวเลขประมาณนี้จำนวนประชากรถึงจะคงตัวเมื่อไปหักลบกับตัวเลขอื่นๆ ขณะที่ผลสำรวจระบุว่า ค่าเฉลี่ยของจำนวนบุตรที่แต่ละครอบครัวชาวจีนอยากมีคือ 1.8 คน
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการเกิดต่อปีอยู่ที่เพียง 0.53% เป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่จีนเริ่มสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2496 หรือลดลง 0.04% เทียบกับช่วงศตวรรษก่อนหน้าคือ ระหว่างปี 2543-2553
ซึ่งบรรดานักวิจัยจากธนาคารกลางออกมาเตือนว่า หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการมีลูก ในอนาคตจีนจะต้องเจอกับภาวะขาดแคลนแรงงาน และการแบกรับภาระอย่างมากจากการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภายในปี 2593 จะกลายเป็นปัญหาบั่นทอนศักยภาพของประเทศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ
ปัจจัยที่ทำให้หนุ่มสาวจีนเป็นโสด คู่สมรสไม่อยากมีบุตร
ที่ผ่านมาจีนเพิ่งประสบปัญหาขาดแคลนในตลาดแรงงาน ทำให้ชาวจีนต้องทำงานหนักขึ้น ต้องเพิ่มเวลาทำงาน ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น การมีลูก 1 คน คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าดูแล ค่ารักษาพยาบาล ต้องมีเวลาดูแลลูก ไหนจะต้องมีเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ที่กำลังแก่เฒ่า ทำให้คู่รักชาวจีนต้องคิดหนักมากขึ้น เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจมีลูกคนแรก อย่าว่าไปถึงขั้นการมีลูก 2-3 คน
ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ของจีน ระบุว่า มีสัญญาณเตือนมาตั้งนานแล้วว่า จีนจะเจอปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลงอย่างมาก คาดการณ์ว่าในปีหน้าก็ยังจะลดลงไปอีก คาดว่าจะมีประชากรเกิดใหม่เพียง 10 ล้านคน พอๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่คาดว่าจะอยู่ที่ 10 ล้านคน อย่างในกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน มีประชากรเกิดใหม่ลดลงอย่างมากถึง 24.3% จากจำนวน 21 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ในโซเชียลมีเดียของจีนได้มีการพูดถึงประเด็นร้อนว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ผู้หญิงกับผู้ชายชาวจีนรุ่นใหม่ถึงไม่ค่อยอยากมีลูก หลายคนบอกว่า เป็นเพราะในความเป็นจริงแล้วสังคมการทำงานในปัจจุบันยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงอย่างเต็มที่ และเมื่อใครคว้าโอกาสนั้นได้แล้วก็คงไม่อยากให้การมีลูกมาขัดขวางโอกาสการประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในด้านหน้าที่การงาน
ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่บอกว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรระหว่างชายหญิงไม่สมดุลกัน สืบเนื่องมาจากนโยบายมีลูกคนเดียวในอดีตที่ทำให้พ่อแม่อยากมีลูกชายมากกว่าลูกสาว ตอนนี้พวกเขาโตขึ้นมา แค่หาแฟนแต่งงานยังเป็นเรื่องยากมาก ไม่ต้องคิดไปถึงการมีลูก 3 คน
ปฏิกิริยาหลังการประกาศนโยบายใหม่
โซเชียลมีเดียในจีนได้มีการทำแบบสำรวจออนไลน์เพียงไม่นานหลังจากทางการประกาศนโยบายออกมา พบว่า ผลตอบรับของประชาชนส่วนใหญ่กว่า 90% คิดว่า นโยบายนี้ไม่ได้จูงใจมากพอที่จะให้พวกเขามีลูกถึง 3 คน
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน เปิดเผยผลการสอบถามประชาชน 31,000 คน พบว่า มีเพียง 1,443 คน พร้อมที่จะมีลูกคนที่ 3 โดยมี 213 คน ที่บอกว่าจะคิดดูก่อน และอีก 828 คน บอกว่ายังลังเล แต่พอเผยผลโพลออกมาไม่นานก็มีการลบไป
ขณะที่นักประชากรศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ต่างขานรับนโยบายนี้ โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่ได้ปีละประมาณ 2-3 แสนคนต่อปี ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้
ด้านนายหู ซิงโถว นักเศรษฐศาสตร์การเมืองอิสระ ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า นโยบายให้มีลูก 3 คน เป็นการเปิดกว้างให้กับคนที่อยากสร้างครอบครัวใหญ่ แต่สำหรับคนจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากมีครอบครัวใหญ่ พวกเขาอยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ต้องมีภาระกดดันในชีวิต และอยากให้รัฐบาลหาทางลดความกดดันในแวดวงการศึกษา และการมีบ้านพักอาศัย ซึ่งเพียงแค่นี้ก็จะทำให้ประชาชนหมดความกดดันในชีวิต รู้สึกสบายใจ และอยากมีลูกกันมากขึ้น
ขณะที่ ตัน หวัง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฮั่งเส็ง มองว่า นโยบายมีลูกได้ 3 คน มีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนประชากร โดยเชื่อว่าน่าจะเพิ่มได้อีกประมาณ 2 ล้านคน เพราะดูจากนโยบายมีลูกได้ 2 คนที่ประกาศออกมาเมื่อ 4 ปีก่อนนั้นพบว่า สามารถเพิ่มจำนวนประชากรจากปีก่อนหน้าได้เพียง 5 ล้านคน ซึ่งทำให้ฐานจำนวนประชากรโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และในระยะยาวจีนยังจะต้องแก้ปัญหาการหาคนทดแทนในตลาดแรงงาน และการดูแลผู้สูงอายุกันต่อไป.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : SCMP, BBC, WSJ,thairath