กีฬาแหลมทอง หรือ “เซียพเกมส์” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ซีเกมส์” เป็นมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียน อาจจะเป็นเพราะคำว่า “ภูมิภาค” นี้เอง (region) จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า มหกรรมกีฬาของภูมิภาคก็ควรจะแข่งขันกีฬาของคนในภูมิภาคย่านนี้ท่าจะดี  

 เซียพเกมส์ หรือ ซีเกมส์ ถูกริเริ่มให้มีการแข่งขันเนื่องจากอาเซียนมีการเตรียมนักกีฬาเพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์ต่อไป แต่เมื่อการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น เป้าหมายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป ซีเกมส์เริ่มเป็นการแข่งขันที่แต่ละชาติคำนึงถึงศักดิ์ศรีและชัยชนะมากขึ้น เจ้าภาพคำนึงถึงการครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองอันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนในชาติ และใช้กรุยทางไปสู่ความสำเร็จในด้านอื่น ๆ

ธรรมนูญซีเกมส์ ที่กำหนดโดยสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ แบ่งหมวดหมู่ category ของกีฬาที่จะบรรจุแข่งขันในซีเกมส์แต่ละครั้งง่าย ๆ ออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1.กีฬาบังคับ (กรีฑา,ว่ายน้ำ), 2.กีฬาสากล (กีฬาที่บรรจุแข่งขันในเอเชี่ยนเกมส์โอลิมปิกเกมส์) และ 3.กีฬาพื้นบ้าน (เจ้าภาพจัดแข่งได้ 8-12 ชนิด) ซึ่งในเวลาต่อมา การต่อสู้ในกีฬาซีเกมส์สนุกตั้งแต่ตอนที่ต้องลุ้นว่าเจ้าภาพจะจัดกีฬาอะไรมาแข่งขันกันบ้าง ทั้งการต่อรอง การขอร้อง หรือบีบบังคับต่าง ๆ นานา เพื่อที่จะเพิ่มและลดจำนวนกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในการวัดชั้นเชิงและศักยภาพของแต่ละชาติในกีฬาซีเกมส์อย่างแท้จริง

การมาถึงของ “ปันจักสีลัต” 

 กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2530 อินโดนีเซีย เจ้าภาพซึ่งพลาดท่าเสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองให้แก่ประเทศไทยที่ได้เจ้าเหรียญทองซีเกมส์ในครั้งที่ 13 เมื่อมาถึง “จาการ์ตาเกมส์” อินโดนีเซีย จัดซีเกมส์แบบแข่งเอง ชนะเอง กวาดไป 183 เหรียญทอง นั่นคือครั้งสำคัญที่ทำให้ซีเกมส์เป็นเวทีเผยแพร่กีฬา “ปันจักสีลัต” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

ปันจักสีลัต (Pencak Silat) เป็นภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่า ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ แปลง่าย ๆ ก็คือ ศิลปะการป้องกันตัวที่คนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ มาจนถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา รู้จักเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ ซึ่งเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม ก่อนจะพัฒนาไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติถึงระดับชิงแชมป์โลก มีทั้งประเภทการต่อสู้จริง และการแสดงศิลปะการต่อสู้ (การแสดง) อินโดนีเซียพยายามเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ แม้ว่าปันจักสีลัตจะได้รับการบรรจุแข่งขันบ่อยครั้ง จนกลายเป็นหนึ่งในกีฬาพื้นบ้านขาประจำ แต่ดูเหมือนชาติสมาชิกอาเซียนนอกจากจะไม่สันทัดแล้ว ยังต้องการจะให้ ปันจักสีลัต เป็นกีฬาพื้นบ้านตลอดกาลมากกว่า 

ชาติไหน ๆ  ก็มีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ 

 เจ้าภาพซีเกมส์ จึงใช้กลยุทธ์การบรรจุศิลปะการต่อสู้ที่ตนเองถนัดเข้าแข่งขัน และชิงเหรียญทองจำนวนมาก และตัวเองก็สามารถโกยเหรียญได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ มันคือเส้นทางที่ดีที่สุดในการเป็นเจ้าเหรียญทอง

เวียดนามที่ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 22 เมื่อปี 2003 ได้บรรจุกีฬาแปลก ๆ ให้ชาวอาเซียนได้ลองเล่นร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติอย่าง “โววีนั่ม” Vovinam ช่วงนั้นเวียดนามต้องส่งเจ้าหน้าที่และนักกีฬาโววีนั่มไปสาธิตให้ชาติต่าง ๆ ได้ชม และฝึกฝนเพื่อไปชิงชัยในซีเกมส์ครั้งแรกของเวียดนาม แน่นอนว่าไม่มีใครสู้นักกีฬาญวนได้ และเวียดนามก็ครองเจ้าเหรียญทอง

โววีนั่ม มีความใกล้เคียงกับมวยไทย มวยจีน และเทควันโด ใช้กระบวนท่าทั้งมือเปล่าและอาวุธ แต่สุดท้ายก็จะไม่ต่างจากศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอื่น ๆ คือ ถูกหมางเมินจากความเป็นสากล โววีนั่มจะเวียนมาบรรจุแข่งขันแน่นอนเมื่อเวียดนามเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ (แถมศึกเอเชี่ยนอินเดอร์เกมส์ 2009 ที่ฮานอย) และในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 บนแผ่นดินเวียดนาม ก็ไม่พลาดเด็ดขาดในการบรรจุโววีนั่มชิงชัย

ฟินสวิมมิ่ง-ชัตเติ้ลค็อก

ไม่เพียงกีฬาต่อสู้เท่านั้น แต่เวียดนามคือ ผู้นำกีฬาว่ายน้ำใส่ตีนกบ (ฟินสวิมมิ่ง) และ เตะลูกขนไก่ข้ามตาข่าย (ชัตเติ้ลค็อก) มาแข่งขันในซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ไม่ว่าใครจะเรียกว่ากีฬาพื้นบ้านหรือไม่ แต่มันก็แปลกในความรู้สึกของคอกีฬาสากล โดย ฟินสวิมมิ่งนั้น ได้รับการบรรจุแข่งขันต่อมาแม้เวียดนามจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพก็ตาม โดยเฉพาะในซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ สปป.ลาว ปี 2009

ไฮไลท์สำคัญคือ การขับเคี่ยวชิงเจ้าเหรียญทองระหว่าง ไทย กับ เวียดนาม ในวันสุดท้ายนักกีฬาไทยกลับได้ 2 เหรียญทอง ฟินสวิมมิ่ง ประเภทไบ-ฟินส์ 4×100 ม.ชายและหญิง ด้วยการเอาชนะเวียดนามทั้ง 2 เหรียญ ส่งให้ทัพนักกีฬาไทยเอาชนะเวียดนามด้วยการทำได้ 86 ต่อ 83 เหรียญทอง คว้าเจ้าเหรียญทองที่เวียงจันท์

ในขณะที่ ชัตเติ้ลค็อก เป็นกีฬาที่บ่งบอกความเป็นเอเชียได้อย่างชัดเจน นิยมเล่นกันอย่างมากที่จีน และเวียดนาม มีลักษณะการเล่นคล้ายตะกร้อของไทย ซึ่งนักกีฬาตะกร้อก็หัดเล่นเพื่อจะส่งไปแข่งซีเกมส์ แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะสู้เวียดนามไม่ได้ แต่หากคิดจะเอาจริงเอาจัง นักเตะไทยที่เป็นเจ้าแห่งตะกร้อก็น่าจะไปถึงเหรียญทองชัตเติ้ลค็อกได้เหมือนกัน เพียงแต่เมื่อดูอนาคตแล้ว กลับมาเล่นตะกร้อเหมือนเดิมดีกว่า

“อาร์นิส” ไม่ใช่นิด ๆ 

 ครั้งที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ปี 2005  อาร์นิส Arnis ถูกบรรจุเข้าแข่งขันด้วย เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของชาวตากาล็อก ซึ่ง อาร์นิสคือศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวโดยการใช้อาวุธประเภทต่าง ๆ อาทิ มีดสั้น, ท่อนไม้ และดาบ มีระดับขั้นเป็นสายคาดเอวเป็นสีเหมือนกีฬายูโด โดยเริ่มจากสายขาว,เหลือง,เขียว,น้ำเงิน,น้ำตาล และดำ มีทั้งประเภทต่อสู้ และร่ายรำ นักกีฬาแต่งกายคล้ายชุดเคนโด้ของญี่ปุ่น

ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ฟิลิปปินส์ครองเจ้าทองตามความคาดหมาย แต่อาร์นิส ยังไม่มีบทบาทมากนัก จนกระทั่งซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2019 ฟิลิปปินส์ได้เวียนมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง คราวนี้ อาร์นิส มีบรรจุชิงชัยกว่า 30 เหรียญทอง เจ้าภาพกวาดไปเกือบครึ่ง เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้ฟิลิปปินส์โกย 149 เหรียญทอง มากที่สุดเท่าที่ชาติตัวเองเคยทำได้ในซีเกมส์ 

มวยไทย หรือ มวย ล้วนแล้วแต่ไทยทำ

ไทยเราก็มีศิลปะการป้องกันตัวประจำชาติอย่าง มวยไทย ที่ต้องการจะเห็นการชิงชัยในกีฬาซีเกมส์ทุกครั้งเช่นกัน ซึ่งกีฬาดวลหมัดเท้า เข่า ศอก ไม่ใช่กีฬาแปลกมากนัก แต่แปลกตรงที่ความขัดแย้งของคนไทยที่ต้องการเข้ามาทำกีฬามวยไทย แตกแยกกันเอง จนกระทั่งในซีเกมส์ มีทั้ง “มวยไทย” และ “มวย” ซึ่งการตัดคำว่า “ไทย” ออกนั้นบานปลายไปถึงการกล่าวหากันว่าเป็นคนขายชาติ จนช่วงหนึ่งกลายเป็นกีฬาที่มีสหพันธ์นานาชาติแยกกันดูแล “มวยไท” และ “มวย” กลายเป็นกีฬาต่างชนิดกันอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่าแปลกซะจนในซีเกมส์บางครั้งประเทศไทยไม่สามารถส่งนักกีฬาไปแข่งขันได้

คุณทำได้ ผมก็ทำได้

กีฬาพื้นบ้าน หรือกีฬาประจำแต่ละชาติ เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญในกีฬาซีเกมส์มาตลอด ไม่ว่าใครเป็นเจ้าภาพก็ต้องการบรรจุกีฬาที่ตนเองถนัดเข้าแข่งขัน ถ้า “คุณทำได้ ผมก็ทำได้”  คือ คติประจำใจ การคัดค้าน การล็อบบี้ มีให้เห็นทุกครั้งยังมีกีฬาพื้นบ้าน (ส่วนใหญ่เป็นศิลปะการต่อสู้) อีกมากมายหลายชนิดที่วนเวียนเข้ามาในซีเกมส์ เช่น โชรินจิ เคมโป หรือ ตารุง เดราจัต ที่อินโดนีเซียพยายามผลักดันให้มีแข่งขันหากเจรจาสำเร็จก็มีการชิงชัยกันไป มากน้อยแล้วแต่ข้อตกลง หรือกีฬาที่ได้ยินบ่อยเข้า ได้เห็นการชิงชัยมากครั้ง อย่าง วูซู, ยูยิตสู,คูราช ฯลฯ ก็เริ่มจะเป็นความเคยชิน 

 ชินลง หรือ ตะกร้อโบราณแฝงลีลาแห่งเมียนมา ถ้าหากมีความคุ้นเคยกับตะกร้อดีแล้ว เมื่อชินลงได้ชิงชัยอีกครั้ง ชาวซีเกมส์ก็ยากที่จะปฏิเสธ

 กีฬาซีเกมส์ที่ครั้งหนึ่งถูกโจมตีว่าเป็น “ละครสัตว์” มีแต่กีฬาแปลก ๆ เกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นมหกรรมกีฬาสากล แต่ครั้งหนึ่งก็เคยมีผู้ที่เอ่ยปากชม (แกมประชด) ว่า

 “ซีเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่ดีที่สุด เพราะจะบรรจุกีฬาอะไรแข่งขันก็ได้”    

ขอบคุณข้อมูลจาก SANOOK SPORT