เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพงในขณะนี้ โดยเสนอให้พิจารณาใน 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ การลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่วนแนวทางที่สอง คือ ลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตร 5 บาท ซึ่งจะใช้เวลาที่สั้นลงน้อยกว่า 3 เดือน
สำหรับทั้งสองแนวทางดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 มากเกินไปด้วย โดยคาดว่า ครม.พิจารณามาตรการดังกล่าวในวันอังคาร ที่ 17 พ.ค.นี้ ก่อนที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในรอบแรกจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้
“ครม.จะเลือกแนวทางใดก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด จะต้องกระทบต่อรายได้รัฐไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท”
ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.65 นั้น ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนจะต่ออายุภาษีดีเซลออกไป หรือจะมีการลดภาษีเพิ่มเติมหรือไม่ จะต้องดูก่อนว่ารายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บมีส่วนเกินมากแค่ไหน หากจะนำมาสนับสนุนในส่วนนี้ ซึ่งขอดูการจัดเก็บรายได้เดือนเม.ย.65 ก่อน
อย่างไรก็ตาม หากเก็บภาษีเกินเป้าได้เยอะ จะทำให้มีรายได้ส่วนเกินที่จะนำมาใช้สนับสนุนมตรการนี้ต่อได้ หลังจากรัฐบาลมีการช่วยเหลือประชาชนแล้ว 3 เดือน โดยลดภาษีให้ 3 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 ลดลงจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร ส่วนระยะต่อไปจะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน จะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 20 พ.ค.65 แน่นอน
“การต่ออายุภาษีน้ำมันดีเซล จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้แน่นอน โดยการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 1 บาท จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,900 ล้านบาท ดังนั้นหากจะต่ออายุมาตรการจะต้องไม่กระทบกับรายได้ของรัฐ ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรมสรรพสามิต รวมถึงประชาชนด้วย โดยถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกลงมา ประชาชนอาจไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก แต่ถ้าราคายังสูงประชาชนก็ต้องช่วยแบกรับภาระด้วยส่วนหนึ่ง”
ที่มา : ข่าวสด