พระโคเสี่ยงทายกินน้ำ-หญ้า-ถั่ว-เหล้า ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2565 ทำนายว่า ปีนี้ น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ส่วนการเสี่ยงทายผ้านุ่งได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มมีเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ขณะที่ประชาชนที่มาร่วมชมพระราชพิธียังท้องสนามหลวงแห่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวในพิธีเป็นสิริมงคล กระทรวงเกษตรฯ เผยรายชื่อเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน รวมทั้งสถาบันเกษตรกรแห่งชาติดีเด่นและสหกรณ์ดีเด่น

เวียนมาบรรจบอีกปีสำหรับพระราชพิธีจรด พระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีการที่กระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญแก่เหล่าเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ด้วยถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 13 พ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2565 โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหา วัชรราชธิดา โดยเสด็จด้วย

เมื่อเสด็จขึ้นพลับพลาพิธี มณฑลท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ จากนั้นนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยาตราขบวนพระยาแรกนาพร้อมเทพีคู่หาบทองได้แก่ น.ส.ณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ น.ส.อาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.กันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง

พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วออกไปประกอบพิธีแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก ปีนี้กรมปศุสัตว์ได้คัดเลือกพระโคแรกนาขวัญ คือ “พระโคพอ” และ “พระโคเพียง” พระยาแรกนาเจิมพระโค ก่อนที่จะไถดะไปโดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ พร้อมกับหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ ได้แก่ กข 43 กข 85 กข 87 ปทุมธานี 1 ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 6 แล้วไถกลบอีก 3 รอบ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค

ต่อมานายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้อ่านคำกราบบังคมทูล ผลการเสี่ยงทายของพระยาแรกนา โหรหลวงได้ให้คำพยากรณ์ว่า พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้าสำหรับนุ่งไปประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดังนี้ เสี่ยงผ้านุ่งปีนี้ หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง ปีนี้พระโคกินน้ำ หญ้า พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์, ถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะสมบูรณ์ดี, เหล้า พยากรณ์ว่าการคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

จากนั้น ได้กราบบังคมทูลเบิกชาวนาผู้ชนะการประกวดผลผลิตและเกษตรกรดีเด่น เข้าเฝ้าฯ รับพระราช ทานรางวัล เสร็จแล้วได้แห่พระยาแรกนาเป็นขบวนอิสริยยศ จากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายบังคมแล้วเข้าขบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงไปยังแปลงนาสาธิต สวนจิตรลดา จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2564 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2565 จัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” รวม 6 พันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม ได้แก่ กข 43, กข 85, กข 87, ปทุมธานี 1, ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 6 มาใช้ในงานพระราชพิธีโดยบรรจุในซองพลาสติก แจกจ่ายให้ประชาชน และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล ในการประกอบอาชีพเกษตรกร

อนึ่ง วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีอีกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ 2565 จำนวน 16 ราย คือ อาชีพทำนา นายพัด ไชยวงค์ จ.เชียงใหม่ อาชีพทำสวน นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร อาชีพทำไร่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาชีพไร่นาสวนผสม นางจิระวรรณ ยืนนาน จ.ชุมพร อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นางนิกร แก้ววิสัย จ.อุดรธานี อาชีพเลี้ยงสัตว์ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นายประวัติ พิริยศาสน์ จ.ปราจีนบุรี อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย นายอรรถพงษ์ บุญเลิศฟ้า จ.นครปฐม อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ นายวัลลภ วุ่นสุด จ.นครปฐม อาชีพปลูกสวนป่า นายสมพร โล่ห์จินดา จ.เชียงราย สาขาบัญชีฟาร์ม นายอดุลย์ วิเชียรชัย จ.ปทุมธานี สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช นายสานนท์ พรัดเมือง จ.สุราษฎร์ธานี สาขาเกษตรอินทรีย์ นางสุจารี ธนสิริธนากร จ.กาฬสินธุ์ ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร น.ส.ประทุมรัตน์ จงคูณกลาง จ.นครราชสีมา สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร น.ส.ศิริมน พันธุ์พิริยะ จ.ตราด

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2565 จำนวน 11 กลุ่ม กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางค้อม จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลาส้ม บ้านคำกลาง จ.อุบลราชธานี กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโฮ้ง หมู่ 5 จ.แพร่ กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตะเคียนงาม จ.กำแพงเพชร สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จ.จันทบุรี ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบัวงาม จ.อุบลราชธานี ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว จ.นครราชสีมา วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 4 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรกุดข้าวปุ้น จำกัด จ.อุบลราชธานี สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลชัยภูมิ จำกัด จ.ชัยภูมิ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด จ.สกลนคร ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565 จำนวน 3 สาขา สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายเอนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ จ.กระบี่ สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จ.ราชบุรี

นอกจากนี้ ภายหลังพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเสร็จสิ้น ประชาชนที่รออยู่บริเวณรอบๆ มณฑลพิธีต่างพากันกรูเข้ามาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวและแย่งกันเก็บต้นไม้ที่นำมาประดับพื้นที่ในมณฑลพิธี อาทิ ดาวเรือง แพงพวย อ้อย กล้วย รวมทั้งสายสิญจน์ นำไปเป็นสิริมงคลด้วย นางแสงจันทร์ อุดรกุล ชาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ดีใจมากที่พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกลับมาจัดที่สนามหลวงตามปกติ เพราะที่ผ่านมาได้มาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไปบูชาเป็นสิริมงคลทุกปี ก่อนจะเว้นไป 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ตั้งใจมาเก็บพันธุ์ข้าวให้ได้ 9 ถุง เพื่อไปแจกจ่ายให้สมาชิกในครอบครัวเก็บไว้เป็นสิริมงคล

ที่มา : ไทยรัฐ