แม่ค้าชาวสมุทรสาครถึงคราวเคราะห์ โอนเงินผิดเกือบ 3 แสน ไปเข้าบัญชีสาวที่บุรีรัมย์ ติดต่อทั้งคอลเซ็นเตอร์ธนาคารและสาขาแต่โยนกันไปมา ต้องทำตัวเป็นนักสืบเองพบเงินถูกโอนไปหลายบัญชีตามคืนมาได้ 1.6 แสน ที่เหลือโดนบล็อกเบอร์ อยากให้ธนาคารเอาไปเป็นกรณีศึกษา
วันที่ 15 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.วรรณ ชวดพงษ์ อายุ 40 ปี อยู่เลขที่ 9/229 หมู่ 3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ว่าได้โอนเงินผิดบัญชี เงินไปเข้าบัญชีของหญิงชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องลำบากตามสืบสวนเอง ไม่สามารถพึ่งธนาคารอายัดเงินไว้ได้ทัน
สอบถาม น.ส.วรรณ ชวดพงษ์ เล่าว่า ตนประกอบธุรกิจ ร้านขายส่งหมูหมักชื่อ “เอส.พี.ฟู้ดส์ 2017” อยู่สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 08.30 น. ได้ใช้แอปฯ ธนาคารกสิกรไทย โอนเงินค่าเนื้อหมูให้กับคู่ค้าที่เพิ่งค้าขายด้วยกันเป็นครั้งแรก จำนวน 293,439 บาท
หลังโอนได้ส่งสลิปไปให้คู่ค้าดู ได้รับคำตอบว่าใบสลิปไม่ใช่ชื่อเขา เมื่อมาตรวจสอบหมายเลขบัญชี พบว่าตัวเองกดเลขผิดจากเลข 1 มาเป็นเลข 7 แล้วเงินไปเข้าบัญชี น.ส.วณีย์ คำพาย จากนั้นภายใน 2 นาที ได้ให้สามีซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี เดินทางไปที่ธนาคารกสิกรไทย ในสมุทรสาคร ทันที ส่วนตัวเองติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ ระบุว่า ไม่สามารถอายัดบัญชีได้ เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง จะต้องไปที่ธนาคารสาขา ทันใดนั้นสามีได้โทรศัพท์แจ้งมาว่า ธนาคารแจ้งว่า “ต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์” เพราะรวดเร็วกว่า และให้ไปแจ้งความเอาหลักฐานมายืนยันกับธนาคาร
เวลา 10.51 น. ได้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร เอาหลักฐานไปแจ้งธนาคาร เพื่อให้อายัดบัญชีไว้ก่อน แต่ธนาคารให้กลับไปแก้ไขเวลาการแจ้งความอีก เพราะเวลาที่โอนเป็น 08.30 แต่เวลาแจ้งเป็นเวลา 10.51 น. ต้องแก้ให้เป็น 08.30 น. เป็นเวลาแจ้ง สุดท้ายได้รับคำตอบจากธนาคารสาขาว่า ไม่สามารถอายัดได้ จะต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ก่อนตามขั้นตอน
“รู้สึกว่าไม่ทันการ จึงให้ทีมงานค้นหาเฟชบุ๊ก ไปบุคคลชื่อวณีย์ คำพาย พบชื่อแต่ไปขอแอดเป็นเพื่อน แต่ไม่รับแอด จากนั้นได้ให้ทีมงานระดมค้นหาบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งไปพบญาติพี่น้องของ น.ส.วณีย์ หลายคน ต่อมาได้เบอร์โทรของ น.ส.วณีย์ มาแล้วโทรหา แต่ไม่ยอมรับว่าเป็นตัวเองแล้วปิดสาย การค้นหายังทำอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดต่อลูกสาว น.ส.วณีย์ ได้ ยอมรับว่าแม่โอนเงินให้จำนวน 50,000 บาทเอาไปปิดค่างวดรถ 20,000 บาท เหลือเงิน 30,000 บาท ขอโอนให้ก่อนที่เหลือจะผ่อนชำระให้ เราก็ยอม”
น.ส.วรรณ กล่าวอีกว่า มาทราบต่อมาอีกว่า น.ส.วณีย์ ยังเอาเงินไปซื้อทองน้ำหนัก 1 บาท และซื้อรถมอเตอร์ไซค์อีก 1 คัน จึงติดต่อตำรวจ ให้ไปประสานร้านทอง ร้านทองยอมโอนเงินคืนให้ 30,000 บาท หลังจากตำรวจไปเอาทองจาก น.ส.วณีย์ มาคืนให้ร้านทอง รวมทั้งหมดที่ น.ส.วณีย์ โยกย้ายเงินและไปซื้อสินค้า รวม 5 คน ได้เงินคืนมาแล้ว 150,000 บาท หลังจากตนเอาไปแชร์ในเพจศูนย์แจ้งข่าวบุรีรัมย์ น.ส.วณีย์ โทรกลับมาหาบอกจะโอนเงินคืนให้ 55,000 บาท ที่เหลือจะขอผ่อนชำระ ตนก็ยอมอีก
สุดท้ายวณีย์ โอนมาคืนให้เพียง 10,000 บาท เมื่อโทรไปถาม กลับตอบว่า ”ใช้หมดแล้ว” ที่เหลือไม่มีจะยอมติดคุกแทน สรุปได้เงินกลับคืนมาทั้งหมด 160,000 ยังคงค้างอีกจำนวน 133,439 บาท หลังจากนี้จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายเพราะได้แจ้งความไว้แล้ว
น.ส.วรรณ กล่าวด้วยว่า ความรู้สึกส่วนตัวยอมรับว่าเสียใจ ทำไมคนเราไม่ยึดหลักศีลธรรม ไม่ใช่ของตนก็อยากได้ และอยากฝากถึงธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่ง ว่าเจอกรณีแบบนี้ จะทำอย่างไร หากลูกค้าธนาคารยืนยันตัวตนชัดเจน น่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนหรือไม่ ต่างจากการโฆษณาของธนาคาร ว่าทันสมัย สะดวก รวดเร็วแค่ใช้ปลายนิ้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์