สภาถกงบปี 66 วันแรก บิ๊กตู่ ร่ายยาว แจงกรอบวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท โวเงินสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง กันงบ 9.59 หมื่นล้าน เผื่อฉุกเฉิน-แก้โควิด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 พ.ค.2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรอบวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วม
เมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณา พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.งบ 66 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบ 65 ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2-4.2 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 0.5-1.5
ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำงบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบ 9.45 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3.18 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้างวันที่ 31 มี.ค.65 มีจำนวน 9.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล เกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท ส่วนฐานะเงินคงคลัง วันที่ 30 เม.ย.65 มี 3.98 แสนล้านบาท สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 22 เม.ย.65 มี 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.งบ 66 มีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนา และฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทุกด้านมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.งบ 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 7 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง
นายกฯ กล่าวอีกว่า รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ที่มา khaosod