“กรมอนามัย“ เตือนคน “วัยทำงาน” หากนั่งนาน 8 ชั่วโมง เมินขยับ ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงอ้วนลงพุง พร้อมแนะลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี
วันที่ 7 มิ.ย. 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยในปี 2562 พบว่า มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 74 แต่ในปี 2563 เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ทำให้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 54 ปี 2564 พบว่า วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 66
รวมทั้งข้อมูลจาก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พบว่าการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เนื่องจากวัยทำงานส่วนใหญ่จะนั่งทำงานนานถึง 8 ชั่วโมง
ดังนั้น กลุ่มวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกายอย่างเพียงพอ โดยเพิ่มกิจกรรมทางกายสะสมในแต่ละช่วงเวลาของวัน เช่น ในเวลาทำงาน หรือการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการลุกยืน และเดินไปดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำ การยืนในช่วงเวลาเบรก หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง การเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ และเดินทางด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้กลุ่มวัยทำงานได้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก โยคะ เป็นต้น และสร้างกล้ามเนื้อ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยการฝึกด้วยน้ำหนักให้ครบทุกส่วนของร่างกาย เช่น ดันพื้น สควอท ซิตอัพ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และควรให้เวลาสำหรับการบริหารร่างกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง ป้องกันและลดอาการบาดเจ็บจากการที่อยู่ในท่าทางการทำงานที่ซ้ำๆ ในแต่ละวัน เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดีต่อไป.
ที่มา thairath