นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากได้ฝากโจทย์ไปว่า มีมาตรการใดบ้าง ที่ตอบโจทย์ธุรกิจร้านอาหารโดยตรง เหมือนอย่างมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ผู้ประกอบการโรงแรม ได้ประโยชน์และเข้าถึงโดยตรง เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือของ ธปท.ที่ออกมาตรงใจ ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพราะเดือน มิ.ย.นี้ร้านอาหารส่วนใหญ่ แม้มียอดขายฟื้นตัว แต่ไม่เกิน 30% จากปกติ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน เชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ให้บริการประเภทต่างๆ รวมถึงการจ้างงาน เพราะร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เน้นใช้เงินสดนำมาหมุนเวียน ส่วนใหญ่สายป่านสั้นอยู่ได้นาน 3 เดือน แต่โควิด-19 อยู่มานาน 15 เดือนแล้ว จึงอยากให้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีธุรกิจร้านอาหารมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพียง 15,000 ราย แต่เอาเข้าจริงๆแล้วร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารห้องแถว ต่างเสียภาษีประเภทบุคคลธรรมดา (ภงด.90) และกรมสรรพากรได้ลงพื้นที่ประเมินรายได้ต่อปีเก็บภาษีครบทุกเม็ดทุกหน่วย จึงมีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ที่มีหลักแสนราย แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ จึงอยากให้ช่วยเหลือกลุ่มนี้ เพราะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหนึ่งในผู้เสียภาษีเหมือนกัน
“การสำรวจผลกระทบหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ออกมาตรการควบคุมมาตรการเว้นระยะห่าง ให้ผู้บริโภคสามารถเข้ามานั่งทานอาหารในร้าน 25% ต่อรอบ แต่ผู้บริโภคก็ยังไม่มา ต่อให้ ศบค.ให้นั่งได้เต็มที่ 100% ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีคนกลับไปนั่งทานในร้านอาหารเต็มพื้นที่ เพราะผู้บริโภคอาจยังกลัว จึงหวังว่าจากพระราชกำหนดเงินกู้โควิด 500,000 ล้านบาท ควรต้องให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าถึงความช่วยเหลือ เพราะร้านอาหาร มีคนที่ส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กๆ และมีจำนวนมหาศาล ถ้าล้มจะล้มครืนเป็นโดมิโนไปเรื่อยๆ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง กับร้านอาหาร วันที่ 7-20 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ร้านอาหาร 120,000 ร้าน เข้าถึงแหล่งเงินกู้จาก ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย จำกัด ฯลฯ ล่าสุด วันที่ 7-14 มิ.ย. มีการยื่นขอสินเชื่อ 3,001 ราย วงเงิน 880 ล้านบาท
ที่มา:thairath