กระทรวงแรงงาน เผย จ่อลดเงินสมทบประกันสังคม ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 3% ต.ค.-ธ.ค.นี้ เตรียมเสนอเข้าครม.เพื่อขอความเห็นชอบ หลังเพิ่งอนุมัติให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผล 1 ต.ค.นี้

วันที่ 14 ก.ย. 65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการยินดีที่จะเพิ่มค่าแรง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและรักษาคนทำงานไว้ เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนนายจ้างในไตรภาคีแล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการลดเงินสมทบประกันสังคมจากเดิมที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ให้กับทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเงินที่ลดลงนั้นไม่มีผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ แต่จะมีผลต่อเม็ดเงินที่จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้กำไรตอบแทนที่จะหายไป 1-2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินหมุนเวียนในโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว เรามองว่าเป็นการคุ้มค่าเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้

ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 13 ก.ย. บอร์ดประกันสังคมมีมติเห็นชอบที่จะลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ให้เหลือฝ่ายละ 3% โดยในเรื่องนี้จะได้นำเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ โดยคาดว่าจะให้มีผลในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ที่เป็นการลดภาระให้กับนายจ้าง ซึ่งปกติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมักปรับในช่วงเดือน ม.ค.2565 เมื่อมีการปรับก่อนถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการ การช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง เม็ดเงินเหล่านี้จะนำมาใช้จ่ายในตลาด เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจหมุนเวียน.

ที่มา thairath