“ผู้การจ๋อ” นำตำรวจ PCT แถลงโชว์ รวบ “ไอ้เบียร์” คอลเซ็นเตอร์สาย 3 ปลอม เป็น ผกก.สภ.เมืองเชียงราย สร้างนิยาย โทร.ต้มคนไทยร่วมชาติลวงเหยื่อเคสใหญ่ 3 ราย สูญเงินรวมกันกว่า 150 ล้านบาท สารภาพสิ้นไส้ได้ค่าคอม 3% เฉพาะ 3 เคสนี้ได้ 4 ล้านกว่าบาท แฉเดือนหนึ่งจะหลอกได้ประมาณ 7-8 ล้านบาท ตำรวจนำเหยื่อมาฟังเสียง ยันชัดเป็นเสียงเดียวกัน เร่งตามเงินที่เอาไปซื้อบ้าน ทองรูปพรรณและแจกญาติคืนเหยื่อส่วนกรมการค้าภายในสั่งสอบข้อเท็จจริงคนในขายข้อมูลให้เสร็จใน 5 วัน ถ้าพบผิดจริงลงโทษให้ถึงที่สุดทุกช่องทาง “ชัยวุฒิ” เผยเจ้าหน้าที่รัฐขายข้อมูลประชาชนให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ผิด PDPA เต็มๆ

ตำรวจพีซีทีโชว์จับ “ตัวเชือด” แก๊งคอลเซ็นเตอร์สาย 3 เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ต.ค. ที่กองบังคับการศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT และตำรวจ PCT 5 ร่วมกันแถลงจับกุมนายชลวิชา หรือเบียร์ ปานสมุทร อายุ 32 ปี ชาว จ.สมุทรสาคร ตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 28 ต.ค.65 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตฯนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯและร่วมกันฟอกเงิน ตรวจยึดทรัพย์สิน อาทิ สมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม แหวนกำไล สร้อยโลหะคล้ายทองคำน้ำหนักรวม 8 บาท 3 สลึง นาฬิกาข้อมือ 2 เรือน เงินสด 2,619 บาท ธนบัตร 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนบัตรสกุลเงินเรียล 16,500 เรียลกัมพูชา โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง จับกุมได้ที่ลานจอดรถร้านเค้กบ้านสวน (ขาเข้าสระบุรี) ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเย็นวันที่ 28 ต.ค.

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้การหลอกลวงเป็นพนักงานขนส่งบริษัทเอกชน เรื่องพัสดุผิดกฎหมาย อ้างเป็นตำรวจ “สภ.เมืองเชียงราย” ตรวจสอบพบว่า มีที่ตั้งอยู่ที่ตึกประตูดำ 8 ชั้น ซอยวัดตาด เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา หรือที่เรียกว่า “ตึกประตูดำ” ได้สืบสวนเก็บข้อมูลบุคคลในตึกกว่า 6 เดือน พบว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค.65 มีผู้เสียหายถูกแก๊งนี้หลอกลวงความเสียหาย 45 ล้านบาท วันที่ 30 ก.ค. 65 มีผู้เสียหายเป็นแพทย์หญิงถูกแก๊งดังกล่าวหลอกลวงอีก 101,871,381 บาท เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจับกุมผู้เกี่ยวข้อง 58 หมายจับ

หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT กล่าวต่อว่า มีพยานหลักฐานยืนยันว่า ผู้ที่หลอกลวงให้โอนเงินในขั้นตอนสุดท้าย หรือเรียกว่าสายสามทั้ง 2 คดี ได้เงินไปกว่า 150 ล้านบาท คือนายชลวิชา ปานสมุทร ทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นผกก.สภ.เมืองเชียงราย กระทั่งวันที่ 17 ต.ค.65 ได้ร่วมกับตำรวจกัมพูชา เข้าทลายแก๊งตึกประตูดำ แต่หัวหน้าแก๊งชาวไต้หวันพาพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนไทยรวมทั้งนายชลวิชาหลบหนีออกจากตึกด้วยทางลับ และลอบเดินทางกลับไทย แต่สุดท้ายถูกจับกุมได้

ขณะที่นายชลวิชารับสารภาพ ข้ามไปประเทศกัมพูชาทางช่องทางธรรมชาติ ทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันที่เมืองปอยเปต ตั้งแต่ พ.ย. 64 จน ก.พ. 65 ถูกย้ายไปทำงานตึกประตูดำ และเริ่มเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 2 อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ยศ ร.ต.ท. เมื่อทำได้ระยะหนึ่ง นายทุนชาวไต้หวันเห็นความสามารถ เลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่สาย 3 อ้างเป็นตำรวจระดับสูง ยศ พ.ต.อ. วิธีการจะมีทีมงานนำสคริปต์สนทนาการพูดคุยที่แปลเป็นภาษาไทย หากทำยอดได้มากถึง 1 ล้านบาท จะจัดงานเลี้ยงโดยเฉพาะหมูกระทะ เป็นอาหารที่พิเศษสุด เพราะทีมงานไม่สามารถออกไปด้านนอกได้

ผู้ต้องหาต้มคนไทยด้วยกันเองสารภาพอีกว่า ตั้งแต่ร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกผู้เสียหายได้เงินประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อเดือน เคสใหญ่ๆที่หลอกได้มี 3 ครั้ง 1.ช่วง เม.ย.2565 หลอกครูเกษียณ ได้ประมาณ 11 ล้านบาท 2.ช่วงเดือน ก.ค.65 หลอกลวงนักลงทุนหุ้น ได้ 45 ล้านบาท และ 3.ช่วง ต.ค.65 หลอกลวงแพทย์หญิง ที่ จ.ชุมพร ได้ 101 ล้านบาท สำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีพนักงานเป็นคนไทย 50-60 คน ช่วง 1-3 เดือนแรก จะได้เงินเดือน 20,000 บาท แต่ภายหลังได้ปรับเงินเดือนเพิ่มเป็น 30,000 บาท รวมทั้งได้ค่าคอมมิชชันจากการหลอกลวง 3% คอมมิชชันล่าสุดที่สามารถหลอกลวงได้ 101 ล้าน ได้เงินสดมากว่า 2.5 ล้านบาท ส่วนเคสเก่าที่เคยหลอกลวงได้ 40 ล้านบาท ได้เงินค่าคอมฯ 1,400,000-1,500,000 บาท และเคสที่เคยหลอกลวงได้ 10 ล้านบาท ได้เงินสด 300,000 บาท รวมทั้งหมดที่ทำงานมาได้เงินมาทั้งหมดประมาณ 4,000,000 บาท เมื่อกลับถึงประเทศไทย ได้นำเงินมาสร้างบ้านประมาณ 1 ล้านบาท แบ่งให้ญาติใช้จ่าย 1 ล้านบาท นำไปซื้อทองรูปพรรณมาเก็บไว้ประมาณ 5 แสนบาท ที่เหลือนำมาใช้จ่ายส่วนตัวและใช้เล่นพนันออนไลน์’

พล.ต.ต.ธีรเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินที่ไปต่างประเทศอาจติดตามยาก แต่เคสนี้ทราบว่าได้เงินเปอร์เซ็นต์จากการหลอกลวงรวม 4 ล้านบาท และเงินรางวัลที่ได้จากการหลอกคนไทยเขาจะไม่ได้ใช้เลย จะติดตามคืนให้ผู้เสียหายต่อไป ส่วนญาติผู้ต้องหาอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ และข้อหาอื่นๆที่เข้าข่ายความผิดด้วย ทั้งยังมีผู้ร่วมกระทำผิดที่ทำหน้าที่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกันหลอกลวงอีก 57 คน จะขยายผลจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด สำหรับมือเชือด 150 ล้านบาทรายนี้ มีเทคนิควิธีการที่จะสร้างความกลัวให้เหยื่อ มีวิธีการหลอกลวงได้อย่างแนบเนียนกว่าพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนอื่น จนได้รับความไว้วางใจจากบอสชาวไต้หวัน ถือเป็นบุคคลที่เป็นภัยสังคม สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยด้วยกัน จากนี้จะควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สอท.1 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และติดตามยึดทรัพย์สินต่อไป

มีรายงานระหว่างแถลงข่าววันที่ตำรวจได้นำผู้เสียหายชาย เป็นนักลงทุนหุ้นที่ถูกหลอกเงินไป 45 ล้านบาท มาร่วมฟังเสียงของนายชลวิชาที่โทรศัพท์เข้ามาอ้างตัวเป็น ผกก.สภ.เชียงราย ผู้เสียหายยืนยันเป็นเสียงเดียวกับที่หลอกลวงตน นอกจากนี้ยังได้โทรศัพท์หาแพทย์หญิงรายหนึ่งที่ จ.ชุมพร ที่ถูกนายชลวิชา หลอกลวงเงินให้โอนเงิน 101 ล้านบาท แพทย์หญิงผู้เสียหายยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ตำรวจ บช.สอท.จับกุมข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และภรรยา ขายข้อมูลให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงข่าวผ่าน Zoom ว่า กรณีดังกล่าว นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มีความเป็นห่วง สั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นพบว่า เป็นข้าราชการกรมการค้าภายในที่ปฏิบัติงานอยู่ในต่างจังหวัดได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน คาดว่าภายในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.นี้ น่าจะสามารถรายงานข้อเท็จจริงให้ตนได้รับทราบ พร้อมสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าว ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่ส่วนกลาง หรือที่กรมการค้าภายใน สนามบินน้ำ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 พ.ย. โดยไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบงานใดๆ ถ้าผลตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ากระทำความผิดจริง จะถูกดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง รวมถึงจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบลงโทษทางวินัยด้วย ถ้าพบว่าเป็นการกระทำที่ผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษสูงสุด คือไล่ออก และจะไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญใดๆ

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวถึงกรณี เดียวกันว่า เรื่องนี้มีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ของกระทรวงดีอีเอสโดยตรง ฐานนำข้อมูลส่วนบุคคล ผู้อื่นไปขาย มีโทษอาญา จำคุก สูงสุด 1 ปี ต่อ 1 บุคคล หากขายข้อมูล 10 คน จะมีโทษถึง 10 ปี ถ้า 100 คนโทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ปี นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษอาญา จำคุก 2 ปี และหากขายข้อมูลจนทำให้เสียหายเป็นวงกว้าง ทางสังคมโทษ จำคุกสูงสุดถึง 7 ปี จึงขอเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน บุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นๆได้ให้ระวัง การกระทำที่ผิดกฎหมาย

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์