เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวง การผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ….เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิต “สุรา” ให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุรา ในปัจจุบันให้มากขึ้น

กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

  1. เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน

แต่ทั้งนี้ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

  1. ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

กรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

  1. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี

อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิต “สุรา” ต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ