สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ประชากรโลก 2022 เนื่องในวันประชากรโลก คาดว่าประชากรโลกจะสูงถึง 8,000 ล้านคน ในวันนี้ (15 พ.ย.) และคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2023/2566

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า “วันประชากรโลกในปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญ หลังคาดการณ์การเกิดของประชากรคนที่ 8,000 ล้านของโลก นี่เป็นโอกาสที่จะเฉลิมฉลองความหลากหลาย ยอมรับความเป็นมนุษย์ร่วมกัน และความก้าวหน้าทางสุขภาพที่ช่วยยืดอายุขัยและลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลงอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลโลกของเรา และเป็นช่วงเวลาที่จะไตร่ตรองว่าเรายังคงขาดคำมั่นสัญญาต่อกันอย่างไร”

ประชากรโลกเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 โดยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2020 การคาดการณ์ล่าสุดของยูเอ็นชี้ให้เห็นว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8,500 ล้านคนในปี 2030 และ 9,700 ล้านคนในปี 2050 และคาดว่าจะเพิ่มสู่จุดสูงสุดประมาณ 10,400 ล้านคนในช่วงปี 2080 และคงอยู่ที่ระดับนั้นจนถึงปี 2100

แนวโน้มประชากรโลกปี 2022 ยังระบุด้วยว่าภาวะเจริญพันธุ์ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหลายประเทศ ทุกวันนี้ สองในสามของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ตลอดชีวิตต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ซึ่งเป็นระดับโดยประมาณที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นศูนย์ในระยะยาวสำหรับประชากรที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ โดยประชากรจาก 61 ประเทศหรือพื้นที่ คาดว่าจะลดลง 1% หรือมากกว่า ระหว่างปี 2022 ถึง 2050 อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่องและในบางกรณีเกิดจากอัตราการย้ายถิ่นฐานที่สูงขึ้น

มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2050 จะกระจุกตัวใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย คาดว่าประเทศในแถบซับ-ซาฮารา ในแอฟริกา คาดว่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งจากที่คาดการณ์ไว้จนถึงปี 2050

ขณะที่ส่วนแบ่งของประชากรโลกที่อายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2050 ณ จุดนั้นคาดว่าจำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลก จะมากกว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 2 เท่า และใกล้เคียงกันกับจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

ยูเอ็นยังแนะนำให้ประเทศที่มีประชากรสูงอายุควรดำเนินการปรับแผนงานสาธารณะให้เข้ากับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดตั้งระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า ระบบการดูแลระยะยาว และการปรับปรุงความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและระบบบำเหน็จบำนาญ.

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์