ทวิตเตอร์เปิดเผยว่าจะลบบัญชีผู้ใช้ที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์เฉพาะในการโปรโมตแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ และเนื้อหาที่มีลิงก์ หรือชื่อผู้ใช้
ทวิตเตอร์ระบุในทวีตว่า “เราตระหนักดีว่าผู้ใช้จำนวนมากของเรามีการใช้งานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างไรก็ตามเราจะไม่อนุญาตให้มีการโปรโมตฟรีสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มบนทวิตเตอร์อีกต่อไป”
การประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมของเมตา (Meta) และรวมถึง มาสโทดอน (Mastodon), ทรูธ โซเชียล (Truth Social), ไทรเบล (Tribel), นอสเตอร์ (Nostr) และ โพสต์ (Post) ทวิตเตอร์ทวีตผ่านบัญชี “ทวิตเตอร์ ซัพพอร์ต” ว่ายังคงอนุญาตให้ผู้ใช้โพสต์เนื้อหาข้ามแพลตฟอร์มได้ และการโฆษณาแบบชำระเงินจากไซต์เหล่านั้นจะยังคงได้รับอนุญาต
ด้าน แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ ซึ่งเพิ่งลงทุนในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “นอสเตอร์” ตอบกลับโพสต์ของ “ทวิตเตอร์ ซัพพอร์ต” ว่า “ทำไม” ในการตอบกลับผู้ใช้รายอื่นที่โพสต์เกี่ยวกับการแบนการโปรโมตของนอสเตอร์ ดอร์ซีย์ กล่าวว่า “ไม่สมเหตุสมผล”
นอกจากนั้นหากผู้ใช้มีความพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวก็ถือเป็นการละเมิดด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่ละเมิดกฎเป็นครั้งแรก หรือในบางกรณีที่เกิดขึ้น อาจถูกขอให้ลบทวีตที่ละเมิด หรือถูกล็อกชั่วคราวจากบัญชีของพวกเขา แต่หากพบการกระทำความผิดอีก จะส่งผลให้ถูกระงับถาวร
ส่วนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น “ติ๊กต่อก” (TikTok) ซึ่งเป็นของบริษัท ไบต์แดนซ์ ของจีน ไม่รวมอยู่ในแพลตฟอร์มที่ถูกแบนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามพบว่าทวิตเตอร์ได้เริ่มบล็อกไม่ให้ผู้ใช้แชร์ลิงก์ไปยังมาสโทดอน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากย้ายไปอยู่หลังมัสก์ซื้อกิจการทวิตเตอร์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทวิตเตอร์ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาภายนอกในประเด็นเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 เพื่อให้คำแนะนำแก่ทวิตเตอร์เกี่ยวกับการตัดสินใจของไซต์
การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังทวิตเตอร์ตกอยู่ในสภาพที่วุ่นวายนับตั้งแต่อีลอน มัสก์เข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์ เขาไล่ผู้บริหารระดับสูงออก และเลิกจ้างพนักงานประมาณครึ่งหนึ่ง รวมถึงการประกาศเรียกเก็บเงินสำหรับบริการสมัครสมาชิกของ “ทวิตเตอร์ บลู”
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มัสก์ประกาศคืนบัญชีทวิตเตอร์ให้กับนักข่าวหลายสำนัก หลังทวิตเตอร์ได้ทำการระงับบัญชีใช้งานของนักข่าวหลายคน รวมทั้งนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์กไทม์ส และวอชิงตันโพสต์ โดยพบว่านักข่าวทั้งหมดที่ถูกระงับการใช้งานบัญชีทวิตเตอร์เคยเขียนข่าวเกี่ยวกับ นายอีลอน มัสก์ และเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มนับตั้งแต่นายมัสก์เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ขณะที่สหภาพยุโรปและสหประชาชาติเรียกการกระทำดังกล่าวว่า การโจมตีเสรีภาพสื่อ.
ที่มา – ไทยรัฐ